จุดอ่อนของการอภิปรายผลการวิจัย
หลายต่อหลายครั้งเมื่ออ่านการอภิปรายผลการวิจัยของนักศึกษาที่ทำปริญญานิพนธ์
แล้วทำให้ดิฉันคิดว่า นักศึกษาคงจะเกิดความสับสนเป็นแน่แท้ว่า “จะเขียนอภิปรายผลการวิจัยอย่างไรดี”
จึงเป็นการอภิปรายที่มาจากการคิดวิเคราะห์ของเขาอย่างแท้จริง
โดยทั่วไปนักศึกษาจะได้รับคำแนะนำว่า
“เขียนโดยเรียงตามลำดับของวัตถุประสงค์
และสมมติฐานของการวิจัย โดยกล่าวถึงความเหมือนและความแตกต่างของข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ทำ
เปรียบเทียบกับงานวิจัยอื่นในอดีตว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร และสรุปอ้างอิงไปยังทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง”
ดังนั้นนักศึกษาก็จะเขียนโดยกล่าวถึงผลงานวิจัยของตนเองก่อน แล้วก็ใช้คำพูดว่า “ซึ่งคล้ายคลึง
หรือสอดคล้อง กับผลงานวิจัยของ นาย ก. ที่พบว่า.......”
โดยกล่าวแบบลอย ๆ ขาดการวิเคราะห์วิจารณ์ อย่างลึกซึ้ง หรืออาจกล่าวถึงทฤษฏีเพื่อยืนยันข้อค้นพบ
โดยไม่ให้ข้อคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ถึงความเหมือนหรือความแตกต่างที่สังเกตพบในการนำทฤษฏีไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างของงานที่นักศึกษาทำเสร็จแล้ว
ข้อผิดพลาดของการอภิปรายผลการวิจัยอาจกล่าวเป็นประเด็นได้ดังนี้
ประเด็นแรก เรียกว่า การไม่คำนึงถึงความเหมือน ความคล้าย
หรือความแตกต่างของงานวิจัยที่อ้างถึงกับงานวิจัยที่นักศึกษาทำ หมายความว่า เมื่อนักศึกษานำงานวิจัยของผู้อื่นที่ทำเสร็จแล้วมาอ้างถึง
ในเชิงเป็นเหตุผลสนับสนุน หรือขัดแย้งกับผลงานวิจัยของตนเอง
แต่ขาดข้อมูลรายละเอียด หรือขาดการวิเคราะห์ในประเด็นของนิยามของ ตัวแปรตาม
ตัวแปรต้น กลุ่มตัวอย่างและการวิเคราะห์
ตัวอย่างเช่น
การอภิปรายผลของนักศึกษาท่านหนึ่งเขียนว่า “งานวิจัยเรื่องนี้พบว่า
เหตุผลเชิงจริยธรรม
เป็นตัวทำนายที่สำคัญที่สุดของพฤติกรรมการทำงานอย่างมีจริยธรรมของกลุ่มข้าราชการตำรวจ
สอดคล้องกับผลการวิจัยของ นาย ก. ที่ศึกษาพฤติกรรมการของนักเรียนมัธยมปลายที่พบว่า
เหตุผลเชิงจริยธรรม ทัศนคติต่องาน สามารถทำนายพฤติกรรมรับผิดชอบต่อการเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่จุด
.05 และมีอำนาจในการทำนาย 35 เปอร์เซ็นต์”
การเขียนอภิปรายผลข้างต้นมีความบกพร่องหลายประการคือ 1)
ขาดรายละเอียดของตัวแปรอิสระที่ใช้ในการทำนายพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการเรียน ในงานวิจัยที่นาย ก. ทำ เพราะถ้าตัวแปรอิสระของนาย ก.
ไม่เหมือนกับตัวแปรอิสระของนักศึกษาท่านนี้
ผลการวิจัยอาจไม่สอดคล้องก็ได้
2) งานวิจัยเล่านี้ศึกษากับข้าราชการตำรวจ
แต่งานวิจัยของนาย ก. ศึกษานักเรียน
ผลของงานวิจัยทั้งสองนี้อาจไม่สอดคล้องก็ได้ 3) งานวิจัยเรื่องนี้ พบว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม
เป็นตัวทำนายที่สำคัญที่สุด
แต่งานวิจัยของนาย ก. กล่าวว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม และทัศนคติต่องาน
สามารถทำนายพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีอำนาจในการทำนาย 35 เปอร์เซ็นต์ ผลงานวิจัยทั้งสองเรื่องนี้กำลังกล่าวถึงผลจากการวิเคราะห์ในมุมที่แตกต่างกัน ผลงานวิจัยทั้งสองเรื่องนี้อาจไม่สอดคล้องกันก็ได้
ที่เกิดเหตุดังนี้เพราะนักศึกษาไม่ทำการวิเคราะห์งานวิจัยทั้งสองเรื่องอย่างละเอียดว่างานแต่ละเรื่องใช้ตัวแปรตามเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรการเหมือนอาจเหมือนกันโดยการใช้นิยามปฏิบัติการเดียวกัน
หรือ ใช้ทฤษฏีเดียวกันก็ได้ กลุ่มตัวอย่างเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ตัวแปรต้นมีอะไรบ้าง และการวิเคราะห์ใช้สถิติอะไร ผลที่ได้มีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วจึงเขียนสรุปที่ละประเด็นให้เห็นทั้งความเหมือนและความแตกต่าง
แล้วจึงสรุปว่าสอดคล้องหรือแตกต่างอย่างไร
จะเหมาะสมกว่าการเขียนคลุมแบบลอยๆว่าสอดคล้อง
ผู้เขียนที่อภิปรายผลการวิจัยโดยปราศจากรายละเอียดของงานวิจัย
ที่ต้องวิเคราะห์แล้ว จึงเปรียบเสมือน การกล่าวอ้างงานวิจัยของผู้อื่นอย่างลอย ๆ
ขาดประเด็นที่จะนำมาสู่การถกเถียงทางวิชาการ
ที่จะเกิดการตกผลึกแห่งความรู้
ประเด็นที่สอง อยากจะเรียกว่าการละเลย “ผลที่ไม่มีนัยสำคัญที่มีความสำคัญ” ที่ควรค่าแก่การอภิปรายเป็นอย่างยิ่ง
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะนักศึกษาหลายคนไม่กล่าวถึงผลของการวิจัยที่ไม่มีนัยสำคัญเลย
ผลของการวิจัยที่เข้ากับประเด็นนี้มีหลายรูปแบบได้แก่ 1) พบว่าผลมีนัยสำคัญในกลุ่มรวม
และมีนัยสำคัญในกลุ่มย่อยบางกลุ่ม
ผู้วิจัยจะให้ความสนใจในการอภิปรายสนับสนุนข้อค้นพบที่มีนัยสำคัญ
โดยลืมไปว่าข้อค้นพบที่ไม่มีนัยสำคัญก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งนี้เพราะ
การที่เราพบว่าข้อค้นพบไม่เป็นไปตามทฤษฎีเดิม
แปลว่าอาจมีประเด็นใหม่ ๆ ที่ควรแก่การศึกษาในงานวิจัยต่อไปในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่พบผลสอดคล้องกับทฤษฎีหรือผลงานวิจัยในอดีต ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าทฤษฎีอาจไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างครอบคลุมในกลุ่มบางกลุ่ม
หรือกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยที่ผู้วิจัยศึกษาอาจมีขนาดเล็กเกินไป
หรืออาจมีตัวแปรอื่นบางตัวที่เป็นลักษณะที่เฉพาะของกลุ่มตัวอย่าง
ที่ควรนำมาร่วมศึกษาในงานวิจัยเรื่องต่อไป
2) พบว่าตัวแปรบางตัวไม่มีนัยสำคัญ หรือลดความสำคัญในกลุ่มย่อยบางกลุ่ม
ในขณะที่กลุ่มใหญ่มีความสำคัญ
อาจแสดงถึงข้อถกเถียงว่า
จะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตัวนั้นกับลักษณะบางประการของกลุ่มตัวอย่างนั้นก็อาจเป็นได้
จึงควรค่าแก่การอภิปรายถึงเพื่อประโยชน์ในการทำวิจัยที่ลึกซึ้งในอนาคต
ประเด็นที่ 3
เรียกว่าไม่แยกแยะการมีนัยสำคัญที่ขาดความสำคัญในทางปฎิบัติ
จากผลที่มีทั้งนัยสำคัญและมีความสำคัญในการปฎิบัติ
ได้แก่
การพบผลที่มีนัยสำคัญทางสถิติแต่มีขนาดอิทธิพลหรือความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรที่ต่ำเกินไป
เช่น “ผลการวิจัยพบว่าเหตุผลเชิงจริยธรรมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการทำงานอย่างมีจริยธรรมของข้าราชการตำรวจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ
.05 โดยมีค่า r = .02 ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเหตุผลเชิงจริยธรรม”
ในกรณีนี้ผู้วิจัยควรอภิปรายถึงความไม่มีนัยสำคัญเชิงการใช้ผลการวิจัยในทางปฏิบัติ
เพราะค่า r มีค่าเล็กเกินไป
ผลเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าไม่สนับสนุนการใช้ประโยชน์ของทฤษฎีก็เป็นไปได้
การอภิปรายผลการวิจัย
แม้จะเป็นกิจกรรมเกือบสุดท้ายของการเขียนรายงานผลการวิจัย แต่ก็มีความสำคัญมากในเชิงวิชาการ
และการนำงานวิจัยไปใช้เพื่อการปฏิบัติ
นักศึกษาหลายคนบ่นว่าเขียนยาก ก็ต้องยอมรับว่ายากจริง
แต่เพื่อความสมบูรณ์ของกระบวนการคิดและการเขียนที่ต้องเข้าใจงานของตนเองและงานของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง
ก็เป็นกิจกรรมที่ควรค่าแก่ความพยายาม มิใช่หรือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น