วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มาตรฐานการเขียนบทความ

นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก ต้องเขียนบทความทางวิชาการ และบทความวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีมาตรฐานในระดับต่างๆ เช่นระดับประเทศ ระดับนานาชาติจากถ้าใครเคยอ่านบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้ง 2 ระดับจะเห็นว่า วารสารแต่ละฉบับจะกำหนดการจัดเตรียมต้นฉบับ กำหนดรูปแบบของการเขียน หัวข้อที่ต้องเขียน ผู้เขียนต้องรู้ว่าในแต่ละหัวข้อที่ต้องเขียนนั้น ควรเขียนอะไรบ้าง
สมาคมทางวิชาการด้านจิตวิทยา และการศึกษา ได้จัดตั้งกลุ่มทำงานเพื่อกำหนดมาตรฐานการเขียนที่ควรแก่การเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ ดังนี้
ที่มาของปัญหาการวิจัย ในวารสารบางที่เรียกชื่อต่างกัน เช่นบทนำ ภูมิหลัง บางวารสารก็ไม่กำหนดชื่อ แต่เป็นส่วนแรกของบทความ ในหัวข้อนี้ส่วนสำคัญคือ ระบุปัญหาที่จะวิจัย หรือประเด็นที่กำลังทำวิจัยในบริบทของปัญหานั้น และความสำคัญที่เราต้องทำวิจัยทั้งในเชิงทบ และการปฏิบัติ เขียนให้ชัดเจนว่าไปต่อความรู้เดิมอย่างไรโดยการเชื่อมโยงงานของเรากับงานวิจัยที่มีความอยู่ หรือระบุว่างานวิจัยจะทำให้เกิดผลดีอย่างไร จะไปช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร และผู้วิจัยจะใช้วิธีการอย่างไรในการตอบโจทย์วิจัย
นักเขียนมือใหม่ มักเขียนหัวข้อนี้โดยขาดการเชื่อมโยงปัญหาการวิจัยกับองค์ความรู้เดิม
วิธีวิจัย ในวารสารอาจเรียกว่า วิธีวิทยา วิธีวิจัย ในหัวข้อนี้ส่วนสำคัญคือ 1) ลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง ขั้นตอนในการเลือกหน่วยตัวอย่าง เกณฑ์การเลือกเข้า หรือการคัดออก จำนวนหน่วยตัวอย่าง หลักฐานแสดงการยินยอมของผู้ให้ข้อมูล ในงายวิจัยที่ต้องการเปรียบเทียบกลุ่ม ต้องเขียนให้ชัดเจนว่ากลุ่มที่จะเปรียบเทียบมีจำนวนเท่าไร มีลักษณะเช่นใด 2) การรวบรวมข้อมูล เขียนให้ชัดเจนถึงประเภทของเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเช่น แบบสอบถาม แบบทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ รวมทั้งคุณภาพของเครื่องมือ ช่วงเวลาที่ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล 3) การวัดตัวแปร ในงานวิจัยที่มีตัวแปรเชิงปริมาณ
นักวิจัยมือใหม่ ไม่แยกระหว่างประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ไม่ระบุรายละเอียดของการได้กลุ่มตัวอย่างหรือผู้ร่วมวิจัย ไม่ระบุจำนวนและลักษณะเฉพาะที่สำคัญของกลุ่ม ไม่อธิบายว่าเครื่องมือเป็น แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ ในประเด็นใด และมีการตรวจสอบคุณภาพหรือไม่ พบผลเป็นอย่างไร ในกรณีที่มีการวัดตตัวแปรต้องมีการกำหนดนิยามและการวัดตัวแปรด้วย
ผลการวิจัย ในวารสารส่วนมากตั้งชื่อว่า ผลการวิจัยประกอบด้วย การระบุเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนตัวอย่าง และลักษณะเฉพาะของตัวอย่างในการวิจัย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ โดยต้องระบุเกี่ยวกับข้อมูลที่สูญหาย และการจัดการกับข้อมูลที่สูญหาย การกำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติก่อนการเก็บข้อมูล ค่าสถิติที่สำคัญของการวิเคราะห์นั้นๆ เช่น ค่าสถิติเชิงพรรณณา และสถิติอ้างอิง ขนาดอิทธิพล การค้นพบที่ทำให้มีผลต่อการตีความค่าสถิติ ได้แก่ ผลการตรวจสอบข้อตกลงเบื้องต้นทางสถิติ เป็นต้น ถ้าผลการวิจัยมีความเชื่อมโยงและซับซ้อนต้องสรุปสรุปผลการวิจัยในภาพรวมด้วย
สำหรับงานวิจัยเชิงคุณภาพ ต้องกล่าวถึงขั้นตอนที่ใช้ในการสร้างข้อค้นพบ พร้อมหลักฐานที่สนับสนุนข้อค้นพบ กล่าวถึงความพยายามที่จะค้นหา ข้อค้นพบอื่นๆ การให้หลักฐานสนับสนุน อธิบาย ยืนยันข้อค้นพบ
การอภิปรายผล ประกอบด้วย1) การให้เหตุผลถึงสมมติฐานที่ได้รับการสนับสนุน และไม่ได้รับการสนับสนุน การกล่าวถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างงานนี้กับงานของผู้อื่น 2) การตีความผล เป็นการเชื่อมโยงผลจากการวิจัยไปสู่ ทบ. โดยคำนึงถึง ความเที่ยงตรงภายในที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการวิจัย 3)การอ้างอิงสู่กลุ่มประชากร โดยคำนึงถึง ประชากรที่เป็นเป้าหมาย และบริบทของการวิจัย 4) ข้อเสนอแนะในการทำวิจัย การนำไปปฏิบัติ เป็นต้น

วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

ขอบเขต ข้อตกลงเบื้องต้น ข้อจำกัดของการวิจัย

ในการทำวิจัย มีคำอยู่ 3 คำที่ใช้กันแบบเรื่อยเปื่อย ขาดความเข้าใจที่ชัดเจน หรือให้ความสำคัญน้อยไป ได้แก่ ขอบเขต ข้อตกลงเบื้องต้น และข้อจำกัด
ขอบเขตของงานวิจัย( boundary of research problem ) มักพบเจอในการเขียนบทที่ 1 การกำหนดขอบเขตของการวิจัยนี้ เกี่ยวข้องใกล้ชิด กับการกำหนดปัญหาการวิจัยที่ชัดเจน ลักษณะของขอบเขตของการวิจัยมีประเด็นที่ควรกล่าวถึง ประกอบด้วย ขอบเขตด้านกลุ่มตัวอย่างหรือ กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ที่ต้องระบุว่ามีลักษณะเช่นใด เกี่ยวกับ ชาติพันธุ์ เพศ เศรษฐกิจและสังคมที่จะทำให้ผู้อ่านงานวิจัย หรือนักวิจัยเองทราบว่า การตีความข้อค้นพบหรือ ผลจากการวิจัย ทำภายในขอบเขตเช่นไร เช่น การวิจัยเพื่อสร้างโมเดล การออมเงินของ นักศึกษามหาวิทยาลัย ขอบเขตของการตีความก็อยู่ในบริบทของอายุ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักศึกษามหาวิทยาลัย ขอบเขตด้านทฤษฎี อาจประกอบด้วยการระบุชื่อของทฤษฎีที่ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง การตีความต้องอยู่บนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีนั้น ในงานวิจัยระดับปริญญาเอก โท ของหลายมหาวิทยาลัยเวลาระบุเกี่ยวกับขอบเขตไปใส่หัวข้อว่ากลุ่มตัวอย่าง ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม นั้นเป็นการเขียนที่บอกข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขต แต่มิได้เป็นการระบุขอบเขตที่ควรทำเพราะให้ข้อมูลในระดับปฏิบัติการ มากการการให้ข้อมูลระดับconcept
ข้อตกลงเบื้องต้น (assumption) เป็นการเขียนในขั้นการวางแผนการวิจัยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับมุมมองของนักวิจัยในการใช้เครื่องมือต่างๆ สำหรับการวิจัยเช่น การใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูล การใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล ว่านักวิจัยมีความเชื่อในสิ่งที่เป็นฐานคิดว่าอย่างไร เช่น ผู้วิจัยเลือกใช้การเก็บข้อมูลโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม เพราะผู้วิจัยมีฐานคิดว่า “reality” อยู่ที่ความเชื่อ ความคิด ของผู้ให้ข้อมูล ดังนั้นการได้ข้อมูลต้องเข้าไปสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ให้ข้อมูล ต้องไปเข้าใจวิธีคิดของผู้ให้ข้อมูล
ข้อจำกัด (limitation) เป็นการเขียนเมื่อผู้วิจัยทำวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว และพบ ผลจากการวิจัย(บนขอบเขตและข้อตกลงเบื้องต้นที่กล่าวไปแล้ว) ที่มีข้อจำกัดอื่น ๆหรือจุดอ่อนของการวิจัยที่ผู้วิจัยต้องการให้ผู้อ่าน ผู้ใช้ผลงานวิจัย ได้พึงระวัง การเขียนข้อจำกัดของการวิจัยเขียน อาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับ ขอบเขต หรือข้อตกลงเบื้องต้นก็ได้ เช่น ผู้วิจัยสรุปว่า เจตคติต่อพฤติกรรมฯ เป็น สาเหตุหลักของ พฤติกรรมอนุรักษ์น้ำ ข้อจำกัดของงานวิจัยอยู่ที่ ผลการวิจัยนี้อาจไม่สามารถใช้ได้กับเด็กวัยรุ่นเพศชาย(ในขอบเขตได้กล่าวไว้ว่า เป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้คือกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กวัยรุ่นทั้งหมด) ทั้งนี้เนื่องจากในการสุ่มตัวอย่างสุ่มได้กลุ่มเพศชายน้อย อาจมีผลต่อการทดสอบนัยสำคัญ และการประมาณค่าขนาดของความสัมพันธ์ ดังนั้นในการศึกษาครั้งต่อไปควรมีการเก็บตัวอย่างในทั้ง 2 เพศให้เพียงพอ และทำการเปรียบเทียบขนาดความสัมพันธ์ด้วย
หรือข้อจำกัดอาจไม่เกี่ยวข้องกับขอบเขต หรือ ข้อตกลงเบื้องต้น เลยก็ได้ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำวิจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนักวิจัยก็ได้ เช่น การเก็บข้อมูลช่วงยาว มีตัวอย่างขาดหายไป 30% จากนโยบายของทางราชการ ผู้วิจัยก็จำเป็นต้องเขียนว่าการหายไปนี้จะส่งผลต่อการสรุปผลการวิจัยอย่างไร