วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เมื่อปริญญานิพนธ์ใช้เทคนิคการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม


เมื่อปริญญานิพนธ์ใช้เทคนิคการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

 

ใครต่อใครมักกล่าว ถึง Kurt Lewin ในฐานะผู้คิดค้นและให้ความหมายของคำว่า action research  “a process  whereby one could construct  a social experiment” ตัวอย่างของงานวิจัยในยุคแรกๆ  สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  ที่ เลวิน  ทำได้แก่  การให้ชาวอเมริกันใช้เครื่องในวัวหรือผ้าขี้ริ้ววัว(tripe)ในการปรุงอาหารประจำวัน  โดยมีคำถามวิจัยว่า แม่บ้านชาวอเมริกันจะได้รับการจูงใจให้ใช้เครื่องในวัวในการปรุงอาหารได้หรือไม่ เพียงใด ?  ขั้นตอนในการวิจัยประกอบด้วย  1) การฝึกให้แม่บ้านจำนวนหนึ่งปรุงอาหารโดยใช้เครื่องในวัว และ 2) สำรวจว่าการฝึกมีผลต่อการทำอาหารในครัวเรือนของแม่บ้านแต่ละคนอย่างไร

นั่นเกิดขึ้นมานานกว่า 60 ปีแล้ว ปัจจุบันงานวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมีหลายรูปแบบ แต่มีลักษณะร่วมกันคือ  ใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่เกิดจากความสนใจ  เต็มใจ และร่วมกันปฏิบัติการของคนที่อยู่ในพื้นที่หรือเป็นผู้ปฏิบัติในสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ โดยมีนักวิจัยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการกระบวนการกลุ่ม(moderator)  งานวิจัยนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ทำงานพัฒนาชนบท  นักพัฒนาชุมชน และนักวิจัยองค์การ  แต่เมื่อทำเป็นปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนิสิตนักศึกษา อาจมีความไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลหลายประการ

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกหมายถึงอะไร  ปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนักศึกษาควรมุ่งเน้นการสร้างความรู้ใหม่  ที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เริ่มต้นจาก  การสังเกต ® สังเคราะห์ ® ตั้งสมมติฐาน ® ทดสอบสมมติฐาน ® สังเกตเพิ่มเติม ® วิเคราะห์สังเคราะห์ ® ปรับสมมติฐาน ® จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือ  ในกรณีที่เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ

หรือในการวิจัยเชิงปริมาณ การสร้างความรู้ใหม่เกิดจากกระบวนการดังนี้  การสร้างกรอบความคิดของความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปรที่ได้มาจากการประมวลเอกสารและงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว ® เขียนสมมติฐาน ® ออกแบบการวิจัยเพื่อการทดสอบสมมติฐาน ® เก็บข้อมูล ® ทดสอบความน่าเชื่อถือของสมมติฐาน ® คงไว้หรือปรับทฤษฎี  ลักษณะของการสร้างความรู้ของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมน่าจะเป็นกระบวนการแบบการวิจัยเชิงคุณภาพมากกว่าการวิจัยเชิงปริมาณ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมแก่การเป็นปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ต้องประกอบด้วย 3  ส่วน  ที่เมื่อขาดส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจะไม่เรียกว่าเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่สมบูรณ์  ส่วนแรก คือ  วิจัย  หมายความว่าต้องมีการสร้างความรู้ใหม่  ส่วนที่สอง  เรียกว่า การมีส่วนร่วม  หมายความว่า  นักวิจัยทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก (มืออาชีพ) และผู้ปฏิบัติงาน  หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในท้องถิ่น  องค์กร  ชุมชน  โดยที่บุคคลเหล่านี้ร่วมกันคิดแผนงาน  ดำเนินงาน  สร้างความรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลตามที่ต้องการ  และส่วนที่สาม  คือ การปฏิบัติการ  คือ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนกลุ่ม  ชุมชน  องค์การ  จากจุดเริ่มต้นไปสู่เป้าหมาย  โดยใช้แนวทางที่เน้นการจัดการตนเอง  ของกลุ่มหรือชุมชน

งานปริญญานิพนธ์ปริญญาเอกหลายเรื่องที่ใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กล่าวอ้างว่า เกิดองค์ความรู้ หรือเกิดความรู้ใหม่  แต่ไม่เขียนอธิบายให้เห็นว่าอะไรคือความรู้ใหม่  เพราะความรู้ใหม่น่าจะเป็นการค้นพบที่แตกต่าง หรือเพิ่มเติมไปจากองค์ความรู้ที่ค้นพบเดิม หรือคำอธิบายเดิม ๆ  ตัวอย่างของการเกิดความรู้ใหม่ เช่น  การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเรื่องหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนให้สามารถสร้างรายได้และดูแลกิจการของชุมชนได้ด้วยตนเอง  นักวิจัยพบว่า โครงสร้างของสังคมมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากความเข้าใจเดิม ๆ เกี่ยวกับโครงสร้างของสังคมชนบท  โดยเขียนอธิบาย concept และความเชื่อมโยงของ concept ไว้อย่างชัดเจน  แตกต่างจากปริญญานิพนธ์บางเรื่องที่เน้นให้เห็นกระบวนการของการทำงานพัฒนามากจนไม่เห็นสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่

นอกจากนี้ยังต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงกระบวนการมีส่วนร่วมที่มิใช่แค่การเข้าร่วมเท่านั้น  การมีส่วนร่วมต้องแสดงถึง การมีส่วนร่วมทางการคิด  การลงมือปฏิบัติ  และการสะท้อนการปฏิบัติ  ร่วมทั้งการวางแผนและการปรับแผนที่มีความเท่าเทียมระหว่างผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย  งานปริญญานิพนธ์หลายเรื่องกล่าวถึงการมีส่วนร่วมในเรื่องของกิจกรรม เช่น มีการจัดกิจกรรมโดยใช้เทคนิคของการมีส่วนร่วมต่าง ๆ เช่น  PRA  AIC  แต่ไม่แสดงว่าผู้เข้าร่วมมีความรู้สึกอย่างไร  แสดงออกทางความคิดอย่างไร

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหรือกิจกรรมที่กลุ่มร่วมกันทำเป็นส่วนที่นักศึกษาเขียนถึงมาก แต่ขาดรายละเอียดที่จำเป็นได้แก่  การอธิบายลักษณะของกิจกรรม และกระบวนการทำกิจกรรม  รวมถึงผลที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

ปริญญานิพนธ์ที่เน้นแต่ขั้นตอนของการปฏิบัติการ  อาจเป็นเพียงโครงการพัฒนาชุมชนที่มีเป้าหมายของบการพัฒนาเท่านั้น  แต่มิใช่การทำวิจัยในระดับปริญญาเอก  ปริญญานิพนธ์ที่เน้นการมีส่วนร่วมแต่ไม่อธิบายคำสำคัญของกรณีส่วนร่วมทั้งทางด้าน  บทบาทที่เท่าเทียมกัน  ความเป็นเจ้าของความคิดใหม่  การเห็นคุณค่า  ในงานวิจัยอาจมิใช่กลไกของการมีส่วนร่วมที่ผู้วิจัยใช้  แต่อาจเป็นเข้าร่วมเพราะบทบาทหน้าที่บังคับก็เป็นได้  ดังนั้นปริญญานิพนธ์ ควรตอบคำถามทั้งสามด้านได้อย่างครบถ้วนว่า มีการมีส่วนร่วมอย่างไร  มีการปฏิบัติใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ และมีการสร้างความรู้ใหม่หรือไม่  ต้องมีครบทั้ง 3 ประการและมีความสมบูรณ์เพียงพอเท่านั้นจึงจะสมควรแก่การเป็นการศึกษาค้นคว้าที่เป็นผลงานที่แสดงถึงการจบปริญญาเอก

หากแต่สภาพปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยแข่งกันเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก แต่ขาดคณาจารย์ที่มีประสบการณ์  เพียงพอแก่การควบคุมปริญญานิพนธ์แบบนี้ จึงทำให้ปริญญานิพนธ์ส่วนใหญ่ที่จะใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  ขาดความเหมาะสม  ไม่สมบูรณ์  และปล่อยให้เกิดผลงานที่จะเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นทำตาม    และเมื่อทำตามมาก ๆ เข้าก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องในที่สุด

 

การพัฒนาทักษะของนักวิจัยในมหาวิทยาลัย(2)


การพัฒนาทักษะของนักวิจัยในมหาวิทยาลัย(2)

ผู้สอนระเบียบวิธีวิจัยในมหาวิทยาลัยยังคงสอนแบบเน้นความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนของการวิจัย และให้ทดลองเขียนเค้าโครงการวิจัยตามความสนใจของผู้เรียน  เพื่อให้นำความรู้ในขั้นตอนต่าง ๆ มาประสานกันได้อย่างกลมกลืน  รูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้เกิดขึ้นและยังคงอยู่มานานแล้ว  การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบอื่นๆมาใช้เป็นบ้าง  จะทำให้เกิดทางเลือกในการพัฒนาการเรียนการสอนมากขึ้น

ผู้รู้และนักวิจัยอาชีพหลายคนมีความเห็นว่า  เราควรเปลี่ยนวิธีการสอนที่เน้นความรู้  มาเป็นการเน้นการสร้างทักษะนักวิจัยให้มากขึ้น  กิจกรรมที่มีผู้ใช้มากคือ การให้ผู้เรียนทำโครงการวิจัยร่วมกัน

การใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามของโครงการวิจัยใหญ่ ๆ ที่มีอยู่เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจหลักการหรือแนวคิดทางจิตวิทยาหรือสังคมวิทยา รวมทั้งตั้งคำถามการวิจัย  การฝึกเป็นที่ปรึกษา ฝึกให้คำปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงกับโครงการวิจัย  การนำเสนอผลการวิจัยในงานสัมมนาและเป็นผู้จัดงานซิมโปเซียม  ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการฝึกทักษะนักวิจัยทั้งสิ้น

สิ่งสำคัญในการออกแบบการเรียนการสอนในหนึ่งเทอม ให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทักษะ คือ 1) ต้องระบุขอบเขตของความสามารถสำคัญในสาขาวิชาชีพว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น  นักวิจัยทางการศึกษา  ต้องมีทักษะของการวิจัยด้านการวิจัยเชิงปฏิบัติการสูง  ในขณะที่นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ต้องมีทักษะกระบวนการวิจัยเชิงทดลองในห้องปฏิบัติการสูง เป็นต้น  2) ต้องกำหนดบริบทของงานวิจัยที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่กล่าวถึงในข้อ 1 และบริบทต้องพอเพียงต่อการพัฒนาทักษะอย่างครบถ้วนภายใต้เวลาอันจำกัด  3)  ต้องเชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่เป็นประสบการณ์ในการเรียนการสอนกับสิ่งที่อยู่ในหนังสืออย่างต่อเนื่อง  4) ต้องวางแผนให้ผู้เรียนเกิดความประทับใจและภาคภูมิใจในผลงาน เมื่อทำงานเสร็จ  และ 5) ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัยไม่ว่าจะเป็น กลุ่มตัวอย่างหรือผู้ใช้งานวิจัย

ตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นผลของการทดลองสอนจริงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  ผู้สอนแบ่งเนื้อหาของวิชาวิธีการวิจัยออกเป็น 5 ด้าน  ประกอบด้วย  1) งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์เบื้องต้น  2) การออกแบบการวิจัยและการวัดตัวแปร  3) การรวบรวมข้อมูล  4) การวิเคราะห์ข้อมูล และ 5) การตีความและการนำเสนอข้อมูล  การเรียนการสอนในแต่ละด้านกินเวลาประมาณ 3 4 อาทิตย์  แต่ละครั้งจะมีการมอบหมายงานโดยที่งานแต่ละชิ้นจะนำไปสู่งานชิ้นต่อ ๆ ไป  จนกระทั่งเสร็จงานวิจัย

งานที่มอบหมายให้ผู้เรียนทำประกอบด้วย  1) การวิเคราะห์การรายงานข่าวเกี่ยวกับการสำรวจเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือพิมพ์  ทักษะที่พัฒนาในงานชิ้นนี้ได้แก่  ทักษะการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์  โดยการเปรียบเทียบ ระหว่างการวิจัยเชิงสำรวจที่มีระเบียบระบบ กับการสำรวจทั่วไปที่ใช้ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร  เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับความรู้  เรื่องการสุ่มตัวอย่าง  การสร้างข้อคำถาม  ความเที่ยงตรง และความเชื่อมั่นของเครื่องมือวัด  2) การวิเคราะห์รายงานการวิจัยในวารสารทางวิชาการที่ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงสำรวจ  ผู้เรียนจะพัฒนาความสามารถด้านการเขียนสมมติฐาน  รู้จัก ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม  วิธีการที่หลากหลายในการเก็บข้อมูล  ขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม  นอกจากนี้ยังพัฒนาทักษะการวิพากษ์งานวิจัย  ได้พัฒนาความสามารถในการเขียนอ้างอิง  การเขียนเกี่ยวกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  3)เขียนเค้าโครงการวิจัย  งานชิ้นนี้ผู้เรียนจะได้ฝึกการเขียนสมมติฐานการสร้างนิยามสำหรับตัวแปร  การประมวลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  และเชื่อมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้กลมกลืน  4) การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์  ผู้เรียนได้ฝึกทักษะด้านการสุ่มตัวอย่าง  การสร้างข้อคำถามและการสัมภาษณ์  5) การสร้างรหัสสำหรับจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์  พัฒนาทักษะด้านการจัดเตรียมตัวแปรและการจัดการกับข้อมูลกรณีที่ผู้ตอบบางคนไม่ใช้ข้อมูลที่ครบถ้วน  6) การฝึกใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล  พัฒนาทักษะการใช้คอมพิวเตอร์  การใช้สถิติเชิงพรรณนา และการใช้สถิติเชิงอ้างอิงแบบต่าง ๆ  การตรวจสอบข้อตกลงเบื้องต้น  การสร้างแฟ้มข้อมูลที่จัดการกับข้อมูลรูปแบบที่ไม่เหมาะสมแล้ว  7) การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยการพูด  การโต้ตอบกับผู้ฟังที่มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของความสนใจ และความรู้  8) การเขียนผลการวิจัย  พัฒนาทักษะการเขียนเชิงวิชาการ

การมอบหมายงานแต่ละชิ้น ต้องระบุเป็นลายลักษณ์อักษร (เฉพาะผู้เรียนมักลืมหลังจากออกจากห้องเรียน)  โดยชี้แจงจุดประสงค์ของงานชิ้นนั้น  ประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับ และความเกี่ยวข้องกับงานชิ้นที่ผ่านมา  ระบุแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อการทำงานให้เสร็จและมีคุณภาพ  ตั้งคำถามที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดตามและหาข้อมูลเพิ่มเพื่อตอบคำถาม และสุดท้ายคือ ระบุวัน เวลา ของการส่งงาน  รวมทั้งคะแนนของงาน  จะเห็นว่าการมอบหมายงานเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเรียนรู้ของผู้เรียน  ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ  เพราะผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของผู้เรียน  ซึ่งน่าจะหมายถึงวางแผนจัดหา  อุปกรณ์  สร้างกิจกรรม  ให้คำชี้นำ  ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่ผู้สอนหลายคน กลับถือโอกาสนี้ทำเพียงให้งานแล้วให้ผู้เรียนไปค้นหาทางและอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนรู้เรื่องที่ผู้เรียนยังไม่คุ้นเคย แต่ขาดคนชี้ทาง อาจทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ หรือขาดกำลังใจในการเรียนได้

นักวิจัยควรได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรีเป็นต้นไป  สาขาวิชาที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการมักมีเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอน คือ  ให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในสาขาวิชาของตน  ข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาวิชาการกล่าวว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ หลักสูตรต่าง ๆ ควรจัดการเรียนการสอน ควรสร้างประสบการณ์เชิงรุกแก่ผู้เรียนมากกว่าให้เป็นผู้รับความรู้อย่างเดียว  ควรสร้างประสบการณ์ให้เกิดการตั้งคำถามและหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามนั้น ๆ  ควรจัดกิจกรรมที่ผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน  และควรสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับการประยุกต์ความรู้ในสาขากับนโยบายของประเทศ  การสอนโดยใช้งานวิจัยเป็นบริบท นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในสาขาวิชาของตนได้เป็นอย่างดี

 

การพัฒนาทักษะนักวิจัยในมหาวิทยาลัย (1)


การพัฒนาทักษะนักวิจัยในมหาวิทยาลัย (1)

ทักษะเชิงวิชาชีพมักประกอบด้วยความรู้ ความสามารถและจิตลักษณะที่จะนำไปสู่ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นๆ ความรู้ของนักวิจัยประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน ได้แก่การกำหนดปัญหาการวิจัย การออกแบบการวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และการสรุปผลการวิจัย ความสามารถของนักวิจัย ประกอบด้วยความสามารถด้านการคิดหลายประการ ได้แก่ความคิดหลากหลาย คิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดเชิงเหตุ-ผล คิดวิจารณญาณ คิดเชิงวิพากษ์ และจิตลักษณะ ประกอบด้วยความชอบ ความมุ่งมั่นจดจ่อ กัดติด จนบรรลุคำตอบของการวิจัย       และ ความซื่อตรงและรับผิดชอบต่องานของตน

คนทุกคนมิได้เกิดมาพร้อมกับความรู้ ความสามารถ และลักษณะเหล่านี้ติดตัวมาด้วย แต่ต้องมาค้นหา แล้วพัฒนาอย่างถูกวิธีจึงจะสามารถบรรลุความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ ความรู้ความสามารถของการเป็นนักวิจัย บางส่วนเรียนรู้ได้จากการอ่าน  การปฏิบัติ และเขียนเพื่อถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้ หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่อ่าน ยิ่งได้ทำในสิ่งเหล่านี้มากเท่าใด ก็จะเกิดเป็นความรู้ ความสามารถที่ลึกซึ้งขึ้นตามระยะเวลา

การเรียนในระดับอุดมศึกษา จะมีวิชาวิจัยที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำในสิ่งเหล่านี้ แต่จุดอ่อน คือ ผู้เรียนบางคนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรม จึงทำงานแบบคัดลอกมาส่งซ้ำๆกัน อีกทั้งผู้สอนไม่มีโอกาสได้สะท้อนคุณภาพและความลึกซึ้งของผลงานให้กับผู้เรียน จึงทำให้ผลจากการเรียนรู้ไม่บรรลุเป้าหมาย จนกระทั่งอาจารย์หลายคนบ่นว่า นักเรียนไม่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความคิดและสื่อสารได้อย่างเหมาะสม ทำให้ต้องดูแลกันอย่างมากทีเดียว

การฝึกทักษะการอ่านสำหรับงานวิจัยนั้น มิใช่เพียงอ่านจับใจความ ซึ่งก็ยากอยู่แล้วสำหรับบางคนที่สมาธิไม่ดี แต่ต้องอ่านเชิงวิเคราะห์ และตั้งคำถามและข้อถกเถียงกันตลอดเวลา เช่น มีเงื่อนไขภายในงานวิจัยใด ที่มีผลต่อข้อสรุปที่น่าเชื่อถือของงานวิจัย  เช่น ผลสรุปจากงานวิจัยกล่าวว่า การเรียนในโรงเรียนเอกชน มีผลสัมฤทธิ์ของการเรียนวิชาภาษาอังกฤษสูงกว่าการเรียนในโรงเรียนของรัฐ ดังนั้นการเรียนในโรงเรียนเอกชนมีผลทำให้ภาษาอังกฤษดีกว่าเป็นการสรุปที่ขาดความน่าเชื่อเพราะตัวอย่างที่ใช้มาจากกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนเอกชนและนักเรียนในโรงเรียนของรัฐ ทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนในโรงเรียน เพราะผู้ปกครองอาจมีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมแตกต่างกัน มีค่านิยมทางด้านการศึกษาแตกต่างกันและนักเรียนอาจมีแรงจูงใจทางด้านการเรียนแตกต่างกันตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนในโรงเรียน

การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะด้านการอ่าน ทำโดยให้ผู้เรียนอ่านงานวิจัยในลักษณะต่างๆตั้งแต่ งานวิจัยเชิงสำรวจ งานวิจัยเชิงประเมิน และงานวิจัยเชิงทดลอง เป็นต้น  แล้วจัดให้มีการสนทนากับผู้รู้ ในประเด็นต่างๆเช่น 1)ข้อสรุปจากงานวิจัยมีข้อจำกัดอะไร ที่ผู้วิจัยมิได้กล่าวถึงในขอบเขตของงานวิจัย ข้อจำกัดนี้ส่งผลต่อข้อสรุปอย่างไร   2)เราจะมีวิธีการอะไรที่จะทดสอบว่าผลการวิจัยนี้อาจเป็นตรงกันข้าม 3)เราจะแก้ไขปัญหาก็เป็นข้อจำกัดของงานวิจัยนี้อย่างไร

การฝึกสังเคราะห์สิ่งที่อ่าน เป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักวิจัย เพราะก่อนและระหว่างวิจัยต้องอ่านงานวิจัย และเอกสารอื่นอีกมากมาย ถ้าสังเคราะห์ไม่เป็นจะไม่สามารถสร้างประเด็นที่มีฐานมาจากความรู้เดิม การสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยจะทำให้นักวิจัยสามารถสร้างกรอบแนวคิดที่จะต่อยอดและสร้างสรรค์ได้ การสังเคราะห์ทำได้หลายวิธี อาจเริ่มจากการกำหนดกรอบของการสังเคราะห์ หรือไม่กำหนดกรอบของการสังเคราะห์ก่อน หรือผสมผสานกันก็ได้ เช่น ประเด็นว่าจะพัฒนาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้มีทักษะในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างไรอาจกำหนดกรอบของการสังเคราะห์ว่า การฝึกอบรม แหล่งเรียนรู้ระหว่างการทำงาน แรงจูงใจ ภูมิหลังก่อนเป็นอาจารย์ และวัฒนธรรมขององค์กร ส่งผลต่อทักษะในการทำวิจัยเท่าใดและอย่างไร  หรือกำหนดกรอบหลังจากอ่านงานทุกเรื่องแล้วก็ได้

การฝึกให้ผู้เรียนสามารถสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยได้ ต้องเริ่มจากประเด็นแคบๆก่อน เช่น เลือกงานวิจัยที่มีตัวแปรต้นและตัวแปรตาม เหมือนกัน  5 เรื่องแล้วให้สังเคราะห์เพื่อให้หาข้อสรุปว่า

1)      งานวิจัยทั้งหมดมีผลเหมือนกันอย่างไร และข้อสรุปมีบริบทแบบใด

2)      งานวิจัยทั้งหมดมีผลแตกต่างหรือไม่ อะไรเป็นสาเหตุของความแตกต่าง

3)      คำถามใดที่งานวิจัยทั้งหมดยังไม่ตอบ หรือตอบแล้วแต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ

4)      เราควรทำงานในเรื่องวิจัยใดต่อไป เพราะเหตุผลใด

 

ปัญหาการทำวิจัยของผู้เรียน ในมหาวิทยาลัยคือ เราเน้นการอ่านเชิงวิเคราะห์น้อยไป ขาดการสังเคราะห์ และตั้งสมมติฐานเร็วเกินไป

เมื่อฝึกการอ่านแล้ว อันดับต่อไปต้องฝึกทำวิจัยโดยมีครูอาจารย์ เป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ในขั้นตอนสำคัญๆเริ่มจากขั้นการกำหนดประเด็นการวิจัย และสมมติฐาน การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์และการสรุปผลการวิจัย การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะการวิจัย บทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงนี้ต้องเน้นความเสมอภาค การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หมายความว่าทั้งสองฝ่ายต้องเท่าเทียมกันบนฐานของเหตุและผล มิใช่ว่าอาจารย์ต้องเป็นฝ่ายบอกเสมอว่าต้องทำอะไรหรือต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หมายถึงทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมตัวและหาข้อมูล ข่าวสารต่างๆมาแลกเปลี่ยนกันและกัน การจะทำดังนี้ได้ทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักในบทบาทของตนเอง สมัครใจและเห็นประโยชน์ร่วมกัน    หลายต่อหลายครั้งที่ผู้สอนจะพบว่าตนเองก็ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นพร้อมๆผู้เรียน

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง หลายสาขา เน้นการผลิตเพื่อการหารายได้และไม่สามารถบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้สอนไม่มีเวลาให้กับผู้เรียนมากพอที่จะช่วยพัฒนาทักษะของผู้เรียนอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนบางคนมุ่งหวังใบปริญญามากกว่าต้องการพัฒนาตนเอง

การเขียนเป็นทักษะที่ต้องพัฒนาอย่างมาก ในปัจจุบันที่นักเรียน นักศึกษา มีโอกาสฝึกเขียนน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นการตัดและแปะ การสอบแบบปรนัย การเขียนแบบไม่เป็นทางการเพื่อการสื่อสารที่ฉับไวบนมือถือและอินเตอร์เน็ต การเขียนที่ดีนั้นผู้เขียนต้องคำนึงถึงผู้อ่านเป็นสำคัญ ขณะที่เขียนต้องสมมติตัวเองเป็นผู้อ่านด้วยว่า เขาจะชอบไหม ผู้อ่านเป็นคนแบบไหน เขียนแบบใดจึงจะเหมาะสม การเขียนต้องเขียนจากสิ่งที่เรารู้อย่างชัดเจนและใช้ประโยคที่ตรงประเด็น ไม่ออกนอกประเด็น ไม่เน้นความไพเราะมากกว่าความแจ่มแจ้ง

การฝึกเขียนแบบนักวิจัยนั้น  ต้องสามารถเขียนเชิงพรรณนา เพื่ออธิบายสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ ข้อเท็จจริง เขียนแบบถกเถียงในประเด็นที่ต้องการให้ผู้อ่านคิดในเชิงเห็นด้วย สนับสนุนหรือขัดแย้ง เขียนแบบสรุปจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ โดยทั้งนี้ต้องมีความสามารถในการสร้างกรอบความคิดที่จะเขียน สร้างหัวข้อย่อยหัวข้อรองและใช้รูปแบบการเขียนเชิงวิชาการได้อย่างถูกต้อง

ทักษะเกิดจากการฝึกหลายๆครั้ง จนเกิดความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆการพัฒนาทักษะนักวิจัยก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เทอมแรกจนถึงเทอมสุดท้าย มิใช่มาพัฒนากันตอนทำปริญญานิพนธ์เท่านั้น และบางครั้งเราจะพบว่าบัณฑิตบางคนไม่เคยได้รับการฝึกฝนทักษะนักวิจัยเลย แม้จะได้รับปริญญาไปครอบครองแล้วก็ตาม

 

จุดอ่อนของการอภิปรายผลการวิจัย


จุดอ่อนของการอภิปรายผลการวิจัย

หลายต่อหลายครั้งเมื่ออ่านการอภิปรายผลการวิจัยของนักศึกษาที่ทำปริญญานิพนธ์ แล้วทำให้ดิฉันคิดว่า นักศึกษาคงจะเกิดความสับสนเป็นแน่แท้ว่า จะเขียนอภิปรายผลการวิจัยอย่างไรดี  จึงเป็นการอภิปรายที่มาจากการคิดวิเคราะห์ของเขาอย่างแท้จริง

โดยทั่วไปนักศึกษาจะได้รับคำแนะนำว่า เขียนโดยเรียงตามลำดับของวัตถุประสงค์ และสมมติฐานของการวิจัย  โดยกล่าวถึงความเหมือนและความแตกต่างของข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ทำ  เปรียบเทียบกับงานวิจัยอื่นในอดีตว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร  และสรุปอ้างอิงไปยังทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้นนักศึกษาก็จะเขียนโดยกล่าวถึงผลงานวิจัยของตนเองก่อน  แล้วก็ใช้คำพูดว่า ซึ่งคล้ายคลึง หรือสอดคล้อง กับผลงานวิจัยของ นาย ก. ที่พบว่า....... โดยกล่าวแบบลอย ๆ ขาดการวิเคราะห์วิจารณ์ อย่างลึกซึ้ง  หรืออาจกล่าวถึงทฤษฏีเพื่อยืนยันข้อค้นพบ โดยไม่ให้ข้อคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ถึงความเหมือนหรือความแตกต่างที่สังเกตพบในการนำทฤษฏีไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างของงานที่นักศึกษาทำเสร็จแล้ว

ข้อผิดพลาดของการอภิปรายผลการวิจัยอาจกล่าวเป็นประเด็นได้ดังนี้                                        

ประเด็นแรก เรียกว่า การไม่คำนึงถึงความเหมือน ความคล้าย หรือความแตกต่างของงานวิจัยที่อ้างถึงกับงานวิจัยที่นักศึกษาทำ หมายความว่า เมื่อนักศึกษานำงานวิจัยของผู้อื่นที่ทำเสร็จแล้วมาอ้างถึง ในเชิงเป็นเหตุผลสนับสนุน หรือขัดแย้งกับผลงานวิจัยของตนเอง แต่ขาดข้อมูลรายละเอียด หรือขาดการวิเคราะห์ในประเด็นของนิยามของ ตัวแปรตาม ตัวแปรต้น  กลุ่มตัวอย่างและการวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น

การอภิปรายผลของนักศึกษาท่านหนึ่งเขียนว่า  งานวิจัยเรื่องนี้พบว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม เป็นตัวทำนายที่สำคัญที่สุดของพฤติกรรมการทำงานอย่างมีจริยธรรมของกลุ่มข้าราชการตำรวจ สอดคล้องกับผลการวิจัยของ นาย ก. ที่ศึกษาพฤติกรรมการของนักเรียนมัธยมปลายที่พบว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม  ทัศนคติต่องาน  สามารถทำนายพฤติกรรมรับผิดชอบต่อการเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่จุด .05  และมีอำนาจในการทำนาย 35 เปอร์เซ็นต์

การเขียนอภิปรายผลข้างต้นมีความบกพร่องหลายประการคือ  1) ขาดรายละเอียดของตัวแปรอิสระที่ใช้ในการทำนายพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการเรียน   ในงานวิจัยที่นาย ก. ทำ  เพราะถ้าตัวแปรอิสระของนาย ก. ไม่เหมือนกับตัวแปรอิสระของนักศึกษาท่านนี้  ผลการวิจัยอาจไม่สอดคล้องก็ได้  2) งานวิจัยเล่านี้ศึกษากับข้าราชการตำรวจ  แต่งานวิจัยของนาย ก. ศึกษานักเรียน  ผลของงานวิจัยทั้งสองนี้อาจไม่สอดคล้องก็ได้  3) งานวิจัยเรื่องนี้ พบว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม เป็นตัวทำนายที่สำคัญที่สุด  แต่งานวิจัยของนาย ก. กล่าวว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม และทัศนคติต่องาน สามารถทำนายพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีอำนาจในการทำนาย 35 เปอร์เซ็นต์  ผลงานวิจัยทั้งสองเรื่องนี้กำลังกล่าวถึงผลจากการวิเคราะห์ในมุมที่แตกต่างกัน  ผลงานวิจัยทั้งสองเรื่องนี้อาจไม่สอดคล้องกันก็ได้

ที่เกิดเหตุดังนี้เพราะนักศึกษาไม่ทำการวิเคราะห์งานวิจัยทั้งสองเรื่องอย่างละเอียดว่างานแต่ละเรื่องใช้ตัวแปรตามเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรการเหมือนอาจเหมือนกันโดยการใช้นิยามปฏิบัติการเดียวกัน หรือ ใช้ทฤษฏีเดียวกันก็ได้ กลุ่มตัวอย่างเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร  ตัวแปรต้นมีอะไรบ้าง  และการวิเคราะห์ใช้สถิติอะไร  ผลที่ได้มีรายละเอียดอย่างไร  ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วจึงเขียนสรุปที่ละประเด็นให้เห็นทั้งความเหมือนและความแตกต่าง แล้วจึงสรุปว่าสอดคล้องหรือแตกต่างอย่างไร จะเหมาะสมกว่าการเขียนคลุมแบบลอยๆว่าสอดคล้อง

ผู้เขียนที่อภิปรายผลการวิจัยโดยปราศจากรายละเอียดของงานวิจัย ที่ต้องวิเคราะห์แล้ว จึงเปรียบเสมือน การกล่าวอ้างงานวิจัยของผู้อื่นอย่างลอย ๆ ขาดประเด็นที่จะนำมาสู่การถกเถียงทางวิชาการ  ที่จะเกิดการตกผลึกแห่งความรู้

ประเด็นที่สอง อยากจะเรียกว่าการละเลย ผลที่ไม่มีนัยสำคัญที่มีความสำคัญ ที่ควรค่าแก่การอภิปรายเป็นอย่างยิ่ง  ที่กล่าวเช่นนี้เพราะนักศึกษาหลายคนไม่กล่าวถึงผลของการวิจัยที่ไม่มีนัยสำคัญเลย  ผลของการวิจัยที่เข้ากับประเด็นนี้มีหลายรูปแบบได้แก่  1) พบว่าผลมีนัยสำคัญในกลุ่มรวม และมีนัยสำคัญในกลุ่มย่อยบางกลุ่ม  ผู้วิจัยจะให้ความสนใจในการอภิปรายสนับสนุนข้อค้นพบที่มีนัยสำคัญ โดยลืมไปว่าข้อค้นพบที่ไม่มีนัยสำคัญก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน   ทั้งนี้เพราะ การที่เราพบว่าข้อค้นพบไม่เป็นไปตามทฤษฎีเดิม  แปลว่าอาจมีประเด็นใหม่ ๆ ที่ควรแก่การศึกษาในงานวิจัยต่อไปในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่พบผลสอดคล้องกับทฤษฎีหรือผลงานวิจัยในอดีต  ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าทฤษฎีอาจไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างครอบคลุมในกลุ่มบางกลุ่ม หรือกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยที่ผู้วิจัยศึกษาอาจมีขนาดเล็กเกินไป หรืออาจมีตัวแปรอื่นบางตัวที่เป็นลักษณะที่เฉพาะของกลุ่มตัวอย่าง ที่ควรนำมาร่วมศึกษาในงานวิจัยเรื่องต่อไป  2) พบว่าตัวแปรบางตัวไม่มีนัยสำคัญ หรือลดความสำคัญในกลุ่มย่อยบางกลุ่ม ในขณะที่กลุ่มใหญ่มีความสำคัญ  อาจแสดงถึงข้อถกเถียงว่า จะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตัวนั้นกับลักษณะบางประการของกลุ่มตัวอย่างนั้นก็อาจเป็นได้  จึงควรค่าแก่การอภิปรายถึงเพื่อประโยชน์ในการทำวิจัยที่ลึกซึ้งในอนาคต

ประเด็นที่ 3  เรียกว่าไม่แยกแยะการมีนัยสำคัญที่ขาดความสำคัญในทางปฎิบัติ จากผลที่มีทั้งนัยสำคัญและมีความสำคัญในการปฎิบัติ ได้แก่ การพบผลที่มีนัยสำคัญทางสถิติแต่มีขนาดอิทธิพลหรือความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรที่ต่ำเกินไป เช่น  ผลการวิจัยพบว่าเหตุผลเชิงจริยธรรมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการทำงานอย่างมีจริยธรรมของข้าราชการตำรวจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่า r = .02  ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเหตุผลเชิงจริยธรรม ในกรณีนี้ผู้วิจัยควรอภิปรายถึงความไม่มีนัยสำคัญเชิงการใช้ผลการวิจัยในทางปฏิบัติ เพราะค่า r มีค่าเล็กเกินไป  ผลเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าไม่สนับสนุนการใช้ประโยชน์ของทฤษฎีก็เป็นไปได้

การอภิปรายผลการวิจัย แม้จะเป็นกิจกรรมเกือบสุดท้ายของการเขียนรายงานผลการวิจัย  แต่ก็มีความสำคัญมากในเชิงวิชาการ และการนำงานวิจัยไปใช้เพื่อการปฏิบัติ  นักศึกษาหลายคนบ่นว่าเขียนยาก ก็ต้องยอมรับว่ายากจริง แต่เพื่อความสมบูรณ์ของกระบวนการคิดและการเขียนที่ต้องเข้าใจงานของตนเองและงานของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ก็เป็นกิจกรรมที่ควรค่าแก่ความพยายาม มิใช่หรือ

อย่าทำร้ายงานวิจัยเชิงปริมาณ


อย่าทำร้ายงานวิจัยเชิงปริมาณ         

คุณเคยคิดบ้างไหมว่า งานวิจัยทางสังคมศาสตร์หรือพฤติกรรมศาสตร์อาจขาดความน่าเชื่อถือ เพราะนักวิจัยขาดความรับผิดชอบในกระบวนการทำวิจัย คือ ขาดความรอบคอบ ในการออกแบบการวิจัยซึ่งเป็น

ส่วนประกอบสำคัญที่จะให้ตอบคำถามวิจัยได้อย่างมีข้อโต้แย้งน้อยสุด                                                  

จะออกแบบการวิจัยอย่างไร  เพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลของตัวแปรภายนอกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ตัวอย่างเช่น  คำถามของการวิจัยว่า การเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษา  จะมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหรือไม่   ในโจทย์วิจัยนี้มีตัวแปร 2 ตัว คือ ตัวแปรอธิบาย ได้แก่ การเรียนการสอนตามแนวปฏิรูป  และตัวแปรตาม คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  ในกรณีนี้ไม่ว่านักวิจัยจะทำการวิจัยเชิงทดลองหรืองานวิจัยเชิงสัมพันธ์จะมีตัวแปรมากมาย  ได้แก่  เพศ  อายุ  IQ  ความถนัด  เจตคติ ที่เป็นลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง หรือประเภทของครู ลักษณะของโรงเรียนซึ่งเป็นตัวแปรเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของกลุ่มตัวอย่าง ที่เรียกว่าตัวแปรภายนอก ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่มิใช่ตัวแปรที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตามแต่อาจส่งผลต่อตัวแปรตาม ถ้างานวิจัยทั้งหลายปล่อยให้ตัวแปรภายนอกเหล่านี้เป็นอิสระ  การทดสอบทางสถิติ  และผลของการวิจัยอาจเป็นเพียงภาพลวงของปรากฏการณ์จริง

ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงทดลองนักวิจัยควบคุมตัวแปรภายนอกโดยการเลือกกลุ่มที่มีความแตกต่างกันในตัวแปร  เพศ  อายุ  หรือ เลือกเฉพาะกลุ่มที่มีลักษณะเพียงด้านเดียว  หรืออาจควบคุมโดยใช้เทคนิคของการประมาณค่า เช่น การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม  ตัวแปรที่เหลือก็ใช้การสุ่มเข้ากลุ่มเป็นการขจัดอิทธิพลของการเป็นตัวแปรที่ไม่ได้ควบคุม มิให้ปนเปื้อนหรือแทรกซ้อนกับตัวแปรอธิบาย ดังนั้นการสุ่มเข้ากลุ่มจึงเป็นเทคนิคของการควบคุมตัวแปรภายนอกแบบหนึ่ง

ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงความสัมพันธ์  นักวิจัยจะต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวแปรภายนอกเหล่านี้ให้มากที่สุด  หรือเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน  แล้วใช้เทคนิคของการประมาณค่าเพื่อขจัดอิทธิพลของตัวแปรภายนอก ตัวแปรที่เหลือปล่อยให้เป็นความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม ซึ่งผู้วิจัยไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการปนเปื้อนของตัวแปรภายนอกกับตัวแปรอธิบายได้เลยถ้าขาดการใส่ใจกับการสุ่มตัวอย่าง

ข้อสรุปจากการทดสอบทางสถิติของงานวิจัยที่ต้องการอธิบายปรากฏการณ์ แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวแปรภายนอกที่สำคัญ  เป็นข้อสรุปที่ขาดความน่าเชื่อถือ  ลองคิดดูว่า  ถ้ามีผู้ทำวิจัยเชิงสัมพันธ์ที่ต้องการศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างการจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการเก็บข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง  และนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ  เพื่อเปรียบเทียบว่านักเรียนทั้งสองกลุ่มมีประสบการณ์เรียนรู้จากกระบวนการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษาแตกต่างกันหรือไม่ ถ้าพบว่านักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง  มีประสบการณ์การเรียนตามแนวปฏิรูปการศึกษาสูงกว่า  นักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ   ข้อสรุปนี้       นำไปสู่การอธิบายอะไร?  อธิบายว่า  ถ้าจะต้องการให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง  น่าจะจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูป  การวิจัยนี้ขาดความน่าเชื่อถือเพราะนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงอาจมี ความสามารถในการเรียน หรือ  ทัศนคติต่อการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษา ที่แตกต่างไปจากนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ แต่ผู้วิจัยไม่ควบคุม  และตัวแปรเหล่านี้เองที่อาจเป็นตัวแปรปนเปื้อนอยู่ในคำอธิบายผลจากการวิจัยครั้งนี้   ลองคิดดูซิว่ามีผลงานวิจัยจำนวนมากน้อยเท่าไรที่ทำการวิจัยแบบนี้ งานวิจัยในลักษณะดังกล่าวนี้มีข้อสรุปที่ขาดความน่าเชื่อถือ

ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงทดลองที่มีการสุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลอง  ร่วมกับการควบคุมตัวแปรภายนอกบางตัวที่มีผลต่อตัวแปรตาม  จะทำให้การอธิบายผลที่ได้จากการวิจัยมีความน่าเชื่อถือสูง  แต่มีงานวิจัยน้อยเรื่องที่สามารถทำการสุ่มเข้ากลุ่มได้อย่างแท้จริง เช่นงานวิจัยทางการศึกษาที่ต้องทำวิจัยกับนักเรียนทั้งห้อง  ดังนั้น ผลจากการวิจัยเชิงทดลองที่ไม่กล่าวถึงตัวแปรภายนอกที่ถูกควบคุมอาจขาดความน่าเชื่อถือ

ในการวิจัยเชิงทดลอง   กลุ่มควบคุม มิได้หมายถึง  กลุ่มที่ไม่ได้รับกิจกรรมที่กลุ่มทดลองได้รับเท่านั้น แต่หมายถึง กลุ่มที่ทำให้ผู้วิจัยประมาณค่าของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในกลุ่มทดลองได้อย่าง

ถูกต้องน่าเชื่อเมื่อได้ควบคุมปัจจัยภายนอกอื่นๆแล้ว

ข้อแนะนำสำหรับนักวิจัยเชิงปริมาณที่ต้องการข้อสรุปจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือคือ ขณะที่ออกแบบการวิจัยให้แบ่งตัวแปรออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) ตัวแปรอิสระหรือตัวแปรอธิบาย หมายถึงตัวแปรที่เราต้องการศึกษาว่าจะสามารถอธิบายตัวแปรตามได้หรือไม่ อย่างไร ตัวแปรอื่นจัดเป็นตัวแปรภายนอกทั้งหมด ซึ่งมี 3 ประเภทต่อไปนี้ 2)  ตัวแปรภายนอกที่ควบคุม หมายถึง ตัวแปรที่มีผลต่อตัวแปรตามที่ผู้วิจัยนำมาร่วมศึกษาด้วยในงานวิจัย หรือทำการควบคุมไว้โดยการเลือกให้คงที่ 3) ตัวแปรภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่อาจปะปนอยู่กับตัวแปรอิสระหรือตัวแปรอธิบายในข้อแรก และ 4) ตัวแปรภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ จัดให้เป็นตัวแปรความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม

ในการออกแบบการวิจัยเชิงทดลองและการวิจัยเชิงความสัมพันธ์ผู้วิจัยพยายามทำให้ ตัวแปรภายนอกทั้งหมดให้เป็นตัวแปรในกลุ่มที่ 2 หรือตัวแปรภายนอกที่ควบคุมให้ได้มากที่สุด การวิจัยเชิงทดลองมีเครื่องมือในการควบคุมตัวแปรที่ได้เปรียบการวิจัยเชิงความสัมพันธ์ นั่นคือการสุ่มเข้ากลุ่มที่จะทำให้ตัวแปรในกลุ่มที่ 3 เป็นตัวแปรในกลุ่มที่ 2 ทั้งหมด ดังนั้นในการวิจัยเชิงทดลองที่ดีจึงไม่น่าจะมีตัวแปรในกลุ่มที่ 3 แต่การวิจัยเชิงสัมพันธ์ทำได้ยากกว่า แต่อาจใช้เทคนิคของการจับคู่ หรือเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลเข้าช่วย  นักวิจัยที่มีความรับผิดชอบต้องไม่ปล่อยให้ตัวแปรภายนอกที่ไม่ได้ควบคุมเป็นอุปสรรคต่อความน่าเชื่อถือของงานวิจัยของคุณ

การปฏิบัติที่ผิดพลาดของนักวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบสมมติฐาน


การปฏิบัติที่ผิดพลาดของนักวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบสมมติฐาน

นับเป็นเวลาเกือบ 300 ปีที่ John Arbuthnot เริ่มต้นแนวทางการทดสอบสมมติฐานศูนย์ เพื่อเป็นเครื่องมือของนักวิทยาศาสตร์และต่อมานักสถิติได้แก่  Sir Ronald Fisher และ Egon  Pearson  นำวิธีการนี้มาใช้ในหลากหลายวงการทั้งในด้านการวิจัยทางการเกษตร และสาขาการวิจัยอื่น ๆ

ในขณะที่มีการใช้วิธีการนี้เพิ่มขึ้น  ก็มีข้อผิดพลาดของวิธีการนี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นด้วย  ลองมาดูกันซิว่าข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง  ข้อแรกคือ  การตีความว่า ผลของการวิจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิตินั้นแปลว่า ผลของการวิจัยนั้นมีนัยสำคัญทางวิทยาศาสตร์ด้วย  ซึ่งจริงแล้วไม่ใช่  เช่น  ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่กลุ่มทดลองใช้วิธีการลดความเครียดโดยยาจริง  และกลุ่มควบคุมใช้ยาเทียม  ผลการวิจัยพบว่ายาจริงทำให้คนไข้ลดความเครียดได้แตกต่างจากยาเทียมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่ายาดังกล่าว เป็นผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ  ต้องมีการทดลองซ้ำในอีกหลาย ๆ สถานการณ์เพื่อให้สามารถยืนยันผลการวิจัยนี้

ข้อสองของความผิดพลาดในการใช้การทดสอบสมมติฐานศูนย์ คือ  การตีความว่า ผลการทดสอบที่ไม่สามารถปฏิเสธสมมุติฐาน  แสดงว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มหรือไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร  ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเรายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่ามีความแตกต่างเกิดขึ้นหรือไม่  ตอนนี้อย่าเพิ่งงง!!  ลองมาดูที่มาของการทดสอบสมมติฐานศูนย์กันก่อนดีกว่า

Sir Fisher  เข้าใจดีว่า วิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่อง องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มักเริ่มจากการทดลองเล็ก ๆ เพื่อการค้นพบปรากฏการณ์ที่มีประโยชน์  งานวิจัยขนาดเล็กนี้ผลของการวิจัยอาจยังมีข้อสงสัยเล็กน้อย ๆเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผลวิจัย และต้องมีการทำวิจัยต่อไปอีกเพื่อขจัดข้อสงสัยเหล่านี้ โดยการออกแบบการวิจัยที่ดีขึ้น  นอกจากนี้เขาเชื่อว่าการค้นพบที่ผิดพลาดมีผลเสียน้อยกว่า การไม่สามารถค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้นสำหรับเขาแล้วการทดสอบสมมติฐานศูนย์ โดยเลือกระดับนัยสำคัญที่ .05  เป็นการเลือกเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติการวิจัยที่เป็นชุดการวิจัยที่ทำให้ประเด็นวิจัยเดียวกันอย่างต่อเนื่อง  ผลสรุปจากงานวิจัยของเขามีอยู่ 3 แบบเท่านั้น คือ  1) เมื่อ p มีค่าเล็ก น้อยกว่า .05  จะสรุปว่า ผลของทรีทเมนต์มีอย่างชัดเจน  2) เมื่อความน่าจะเป็นมีค่ามากกว่า .05  จะสรุปว่า ถ้าผลของทรีทเมนต์มีจริง  แต่เราอาจไม่พบเพราะงานวิจัยมีขนาดเล็ก และ 3) เมื่อความน่าจะเป็นอยู่ใกล้เคียง เช่นอาจเป็น .055  เขาจะอภิปรายว่าควรจะออกแบบการวิจัยครั้งใหม่อย่างไร  ให้มีผลชัดเจนยิ่งขึ้น

จะเห็นว่าการใช้การทดสอบสมมติฐานศูนย์ในปัจจุบัน แตกต่างจากการใช้เมื่อสมัยดั้งเดิม เช่น  เมื่อเราอ่านงานวิจัย  เราจะพบผลการวิจัยว่า พฤติกรรมวินัยของนักเรียนกลุ่มที่ได้รับทรีทเมนต์ สูงกว่าของกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  แสดงว่าทรีทเม้นต์มีผลต่อการสร้างวินัยของนักเรียน  หรือ พฤติกรรมทางการบริโภคด้วยปัญญาของนักเรียนกลุ่มที่ได้รับทรีทเม้นต์  ไม่แตกต่างจากกลุ่มทดลองที่ระดับ .05  แสดงว่าทรีทเมนต์ไม่มีผลต่อการสร้างพฤติกรรมการบริโภคด้วยปัญญาในกลุ่มนักเรียน  เป็นการสรุปผลการวิจัยใน 2 รูปแบบเท่านั้น  นักวินัยสมัยใหม่จึงมีข้อผิดพลาดที่ว่า  เขาสรุปผลงานวิจัยและตีความแบบหลวม ๆ คือ  ตีความว่าไม่มีผลของทรีทเม้นต์ เมื่อ p > .05  โดยไม่มีข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงการวิจัยให้ดีขึ้น และไม่ทำการวิจัยซ้ำเมื่อ P < .05  เพื่อให้รู้อย่างชัดเจนว่าทิศทางและขนาดของผลที่เกิดจากทรีทเม้นต์เป็นเช่นไร

ในปัจจุบันนักวิจัยต้องปรับเปลี่ยนการปฏิบัติเกี่ยวกับการทดสอบนัยสำคัญของสมมติฐานศูนย์  โดยก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ ระดับนัยสำคัญ และขนาดอิทธิพล  ประเด็นแรกเรื่องระดับนัยสำคัญ  นักวิจัยรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องจำกัดการรายงานผลการวิจัยอยู่ที่ระดับ .05  .01  หรือ .001  แต่ควรรายงานผลการวิจัยตามระดับนัยสำคัญที่แท้จริง ซึ่งคำนวณมาจากข้อมูล เช่น  “P = .06”  และให้ผู้อ่านประเมินเองว่ามีนัยสำคัญอย่างไร  ระดับนัยสำคัญจะบอกให้ทราบว่าทิศทางของผลอยู่ในทิศทางใด และถ้านักวิจัยต้องการจะตีความระดับนัยสำคัญแบบ 2 ขั้ว ผลนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือ ผลนี้เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุบังเอิญ  ผู้วิจัยต้องกำหนดระดับนัยสำคัญไว้ก่อน  และมีคำอธิบายประกอบการกำหนดระดับนัยสำคัญ ซึ่งไม่ควรจะคงที่เสมอไป  และควรจะปรับเปลี่ยนไป  ขึ้นอยู่กับสภาวะของการทำวิจัยครั้งนั้น ๆ เช่น ถ้านักวิจัยต้องการวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบต่อเนื่องเป็นชุดของงานวิจัย อาจเริ่มต้นที่ระดับนัยสำคัญที่ .05  แต่ถ้านักวิจัยทำวิจัยในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมที่รุนแรง อาจตั้งระดับนัยสำคัญที่ .01

คำแนะนำสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ คือ  การรายงานผลการทดสอบนัยสำคัญของสมมติฐานศูนย์ เมื่อ P มีค่าน้อยกว่า .05 ควรสรุปว่า ทิศทางของความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยปรากฏชัดเจน คือ  ค่าเฉลี่ยของกลุ่มทดลองสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มควบคุม หรือเมื่อ P มีค่ามากกว่า .05  ควรสรุปว่า ความแตกต่างระหว่างกลุ่มยังไม่สามารถระบุได้ หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสองยังไม่สามารถระบุได้  ต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ อาจจะสามารถสรุปได้

ประเด็นที่สองคือ  ขนาดอิทธิพลที่บ่งบอกว่า ตัวแปรต้นนั้นมีผลมากหรือน้อยต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวแปรตาม  ในขณะที่การทดสอบนัยสำคัญของสมมติฐานศูนย์บ่งบอกทิศทางของผลที่เกิดขึ้น  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผลของการวิจัยต้องระบุทั้งขนาดอิทธิพล และระดับนัยสำคัญพร้อม ๆ กัน  นักวิจัยควรหลีกเลี่ยงการตีความขนาดอิทธิพลโดยใช้คำบรรยายว่า มีขนาด เล็ก ปานกลาง หรือใหญ่  โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น  ประเภทของการวิจัย  ตัวแปรต้นและตัวแปรตามคืออะไร  การตีความในลักษณะนี้ควรทำโดยนักวิจัยที่มีความคุ้นเคยและเชี่ยวชาญในประเด็นวินัยนั้นเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว การทดสอบสมมติฐานศูนย์ เกิดขึ้นและถูกใช้ในงานวิจัยมาเกือบ 300 ปี  และเราพบว่าความผิดพลาดของวิธีการนี้เกิดจากผู้ใช้และผู้ตีความงานวิจัย ที่ขาดความรู้เกี่ยวกับที่มาของวิธีการ และเจตนาของผู้เริ่มต้นประยุกต์ใช้ในการวิจัย  วิธีการนี้ยังคงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  เพราะจะบอกทิศทางของผลที่เกิดขึ้น  และเมื่อใช้ร่วมกับขนาดอิทธิพลจะให้ความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับขนาดอิทธิพลที่พบ แต่ไม่ค่อยมีประโยชน์นักถ้างานวิจัยมีขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่เพราะจะพบผลที่มีนัยสำคัญบ่อยเกินไป  การทดสอบนัยสำคัญของสมมติฐานศูนย์มีประโยชน์สูงสุด เพื่อใช้กับชุดของการวิจัยที่ที่ต่อเนื่องกันทั้งในแบบที่เป็นการทำซ้ำ และการทำซ้ำโดยขยายขอบเขตของงานวิจัย

กว่าจะเป็นปัยหาการวิจัย


ก่อนจะเป็นปัญหาการวิจัย

นักวิจัยรุ่นเยาว์หรือนักศึกษาระดับบัณทิตศึกษาที่เริ่มทำวิจัย จะมีคำถามเสมอว่า ดิฉัน/ผมจะทำวิจัยเรื่องอะไรดีบ้างก็บอกอย่างเบื่อหน่ายว่า กำลังมองหาหัวข้ออยู่ โดยที่ความจริงแล้วสิ่งที่กำลังพูดอยู่นี้ น่าจะหมายถึงการหาปัญหาการวิจัยที่ดีนั่นเอง

ปัญหาการวิจัยที่ดีนั้น อาจเริ่มต้นจาก การมีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วค่อยๆ พัฒนาไปเป็นปัญหาการวิจัยที่ชัดเจน เช่น ความสนใจของเราอาจเกี่ยวกับเรื่อง ผู้บริหารกับผลประโยชน์ขัดแย้ง วัยรุ่นกับพฤติกรรมทางเพศ  นักข่าวกับจรรยาบรรณในวิชาชีพ เหล่านี้มิใช่ปัญหาการวิจัยที่ดี แต่เป็นแค่ประเด็นความสนใจกว้างๆ

ปัญหาการวิจัยที่ดีควรมีลักษณะลึก  ริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อการสร้างความรู้เชิงวิชาการและการแก้ปัญหาสำคัญ การเขียนปัญหาการวิจัยอาจเขียนในรูป ประโยคคำถามหรือเขียนในรูปของจุดประสงค์ก็ได้  นักวิจัยรุ่นเยาว์มักเลือกปัญหาการวิจัยเร็วเกินไป  ก่อนจะทำการศึกษาอย่างลึกซึ้ง หรือมองไม่เห็นว่ามีปัญหาการวิจัยหลังจากอ่านผลการวิจัยต่างๆแล้วเพราะเข้าใจว่ามีคนอื่นทำวิจัยไปหมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่เลยเพราะความสนใจของนักวิจัย สร้างเป็นปัญหาการวิจัยได้เสมอเมื่อมีการขัดเกลาที่เหมาะสม  การทำวิจัยที่ดีเริ่มจากการเลือกปํญหาการวิจัยที่ดี  ซึ่งทำได้ยากหน่อยสำหรับนักวิจัยรุ่นเยาว์  มีคำกล่าวหาหรือคำวิจารณ์ของอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับปัญหาการวิจัยคือ มันกว้างไป มันไม่น่าสนใจ มันยังไม่มีอะไรใหม่ และนักวิจัยรุ่นเยาว์ก็ไม่รู้ว่าจะไปปรับปรุงอย่างไร

ลักษณะของปัญหาการวิจัยที่กว้างเกินไปเป็นลักษณะที่ปรับปรุงได้ง่ายกว่าจุดบกพร่องอื่น เช่นเดิมนักวิจัยอาจมีปัญหาการวิจัยว่า การฝึกอบรมมีประสิทธิผลหรือไม่  ผลการปฏิบัติงานวัดอย่างไร อะไรทำให้องค์กรมีประสิทธิผล วัยรุ่นรู้เท่าทันสื่อหรือไม่ ปัญหาการวิจัยเหล่านี้จะชัดเจนขึ้น โดยการระบุตัวแปรที่เฉพาะเจาะจง เช่นการใช้เทคนิคแม่แบบเพื่อพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำมีผลอย่างไร  แรงจูงใจในการปฏิบัติงานของพนักงานและภาวะผู้นำของหัวหน้ามีผลต่อประสิทธิผลขององค์กรอย่างไร  วัยรุ่นที่มีโครงสร้างของครอบครัวแตกต่างกับจะมีการรู้เท่าทันสื่อต่างกันอย่างไร

แล้วจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ปัญหาการวิจัยสร้างสรรค์ สำคัญ และมีผลกระทบ เราทำได้โดยอาศัยความรู้ และทักษะต่อไปนี้ 1)  ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆของการทำงานวิจัยได้แก่ การออกแบบการวิจัย  การรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล  2) ทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ และ  3)  ทักษะการสังเคราะห์งานวิจัย การอ่านอย่างมีวิจารณญาณทำโดย เลือกงานวิจัยในเรื่องที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับคำถามการวิจัย อ่านและทำความเข้าใจว่างานเรื่องนั้นทำงานวิจัยในรูปแบบใด กับใคร ตัวแปรวัดอย่างไร ผลเป็นอย่างไรก็ต้องวิเคราะห์ วิจารณ์ข้อดี ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อน่าสงสัยเกี่ยวกับทฤษฎี การวัด การวิเคราะห์ และผลการวิจัย ในขณะที่อ่านงานวิจัยแต่ละเรื่อง จากนั้นนำงานวิจัยหลายๆเรื่องมาสังเคราะห์เพื่อหาว่าอะไรที่ยังเป็นคำถามอีกบ้าง

ปัญหาการวิจัยที่สร้างสรรค์นั้นยากหน่อย เพราะความสร้างสรรค์เป็นจินตนาการบวกกับทักษะความชำนาญในสาขา ปัญหาการวิจัยของนักวิจัยรุ่นเยาว์มักขาดความสร้างสรรค์หรือแม้แต่ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งในประเทศและต่างประเทศบางเรื่องก็ไม่สร้างสรรค์ และเพราะความสร้างสรรค์ไม่มีขอบเขต ดังนั้นปัญหาการวิจัยที่เราคิดว่าสร้างสรรค์อาจไม่สร้างสรรค์สำหรับอีกคนก็เป็นไปได้

ปัญหาการวิจัยจะต้องมีความใหม่ หมายความว่าเป็นปัญหาที่ยังไม่มีใครตอบ หรือเป็นปัญหาที่ต้องการคำตอบแนวใหม่ ดังนั้นถ้าเราทราบว่า มีผู้ทำวิจัยเสร็จและพบว่าการใช้เทคนิคแม่แบบพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำของนักเรียนระดับประถมศึกษาแต่มีขนาดอิทธิพลน้อย และเรามีข้อสันนิฐานว่าการพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำที่เกิดขึ้นจะไม่ยั่งยืนถ้ามิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักเรียน  เราอาจปรับปัญหาการวิจัยเป็น การใช้เทคนิคแม่แบบและกระบวนการกระจ่างค่านิยมร่วมกันจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำได้หรือไม่

นอกจากนี้ปัญหาการวิจัยต้องมีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อวิชาการ นักวิจัยรุ่นเยาว์อาจสร้างปัญหาการวิจัยจากการร่วมงานวิจัยกับนักวิจัยที่มีประสบการณ์ เพราะจะได้เรียนรู้งานวิจัยที่มีความซับซ้อน  หรือจากการอ่านหนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งที่จะทำให้ปัญหาการวิจัยชัดเจนขึ้น  เช่น นักวิจัยที่สนใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคมของนักเรียนประถมศึกษาที่มีความสามารถพิเศษ หลังจากได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ ลักษณะเฉพาะของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ  พัฒนาการทางสังคม อาจมีปัญหาการวิจัยที่ชัดเจนขึ้น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสติปัญญาและการเลือกสังคมมิติระหว่างเด็กนักเรียนประถมปีที่ห้าเป็นอย่างไร หรือ  ปัญหาการปรับตัวทางสังคมของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเป็นอย่างไร

ปัญหาการวิจัยที่ดีอาจเป็นการทดสอบทฤษฎีที่เกี่ยวของกับประเด็นที่นักวิจัยสนใจ ทฤษฎีที่ดีต้องสามารถใช้เพื่อการอธิบายปรากฏการณ์ได้หลากหลาย  ทฤษฎีมักประกอบด้วยการระบุความเกี่ยวข้องระหว่างเหตุการณ์  และตัวแปรที่ใช้เพื่อบอกเกี่ยวกับเหตุการณ์ เช่นทฤษฎีเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวลกับการเรียนรู้  กล่าวว่า  นักเรียนที่มีความวิตกกังวลต่ำจะทำงานได้ดีกว่านักเรียนที่มีความวิตกกังวลสูงในงานที่มีความยาก นักวิจัยอาจทดสอบทฤษฎีในการเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 4 ในวิชาการสอนวิทยาศาสตร์ โดยมีงานที่มีความง่ายและยากในระดับต่าง ๆ โดยใช้นักศึกษาที่มีความกังวลหลายระดับ แล้วทำการสังเกตการสอนของนักศึกษา ปัญหาการวิจัยที่ทดสอบทฤษฎีมีข้อดีหลายประการคือ ทฤษฎีจะเป็นเหตุผลในการอธิบายผลการวิจัย ทฤษฏีให้กรอบการวิจัยเกี่ยวกับตัวแปรและความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปร

ผลงานวิจัยที่มีความสำคัญต้องมาจาก ปัญหาการวิจัยที่ดี และปัญหาการวิจัยที่ดีต้องมีผลกระทบต่อวิชาการหรือการแก้ปัญหาที่สำคัญของสังคม ถ้าการทำวิจัยนั้นไม่เพิ่มพูนความรู้ หรือไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา ก็ไม่คุ้มค่าที่จะทำวิจัย
การวิจัยปฏิบัติการ AR : ความเป็นมา ใครตอใครมักกลาว ถึง Kurt Lewin ในฐานะผูคิดคนและใหความ หมายของคําวา action research “a process whereby one could construct a social experiment” ตัวอยางของงานวิจัยใน ยุคแรกๆ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ เลวิน ทําไดแก “การใหชาว อเมริกันใชเครื่องในวัวหรือผาขี้ริ้ววัว(tripe)ในการปรุงอาหารประจํา วัน” โดยมีคําถามวิจัยวา แมบานชาวอเมริกันจะไดรับการจูงใจใหใช เครื่องในวัวในการปรุงอาหารไดหรือไม เพียงใด ? ขั้นตอนในการวิจัย ประกอบดวย 1) การฝึกใหแมบานจํานวนหนึ่งปรุงอาหารโดยใช เครื่องในวัว และ 2) สํารวจวาการฝึกมีผลตอการทําอาหารในครัวเรือน ของแมบานแตละคนอยางไร จะเห็นวาการวิจัยของ เลวิน คลายกับการวิจัยเชิงทดลองใน สถานการณที่เป็นธรรมชาติ(social experiment) แตมีรูปแบบมี ผลลัพธที่เฉพาะเจาะจงและมีประโยชนในเชิงปฏิบัติ แตยังมีระดับ ของการควบคุมกิจกรรมที่ผูวิจัยเป็นผูจัดการ หรือวางแผนเกือบ ทั้งหมด เลวิน ยังเป็นบุคคลที่กลาวคําพูด “Nothing is as Practical as a good theory” และ “The best way to understand something to try to change it” นอกจากนี้แนวความคิดของ เลวิน ที่ยังคงมีผลกระทบตอการวิจัย ปฏิบัติการในยุคปัจจุบัน ประกอบดวย กระบวนการเปลี่ยนแปลงทาง สังคม มีขั้นตอน 3 ขั้น ขั้นแรก คือ รื้อโครงสรางเดิม (unfreezing) เปลี่ยนโครงสราง และประกอบกลับเป็นโครงสราง

การระบุปัญหาการวิจัย

การระบุปัญหาการวิจัย อันดับแรกต้อง แยกระหว่าง ปัญหา และ ปัญหาการวิจัย ปัญหา แปลว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรค ความยากลำบาก สิ่งที่ไม่เป็นดังคาดหวัง ทำให้ต้องมีการเข้าไปแก้ปัญหา ปัญหาบางอย่างก็แก้ได้จากการวิจัย แต่ปัญหาบางอย่างก็ไม่เหมาะแก่การวิจัย(ใช่คำว่าไม่เหมาะเพราะทางพุทธศาสนามี อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งน่าจะทำให้เชื่อได้ว่า กระบวนการนี้ใช้แก้ปัญหาของคนได้ ) กลับมาทีปัญหาการวิจัย จึงหมายถึงปัญหาใดๆที่ เราสามารถ ทำความเข้าใจ และแก้ไขได้ในที่สุด ผ่านการวิจัย สิ่งที่ต้องมองให้ทะลุอีกอย่างหนึงคือ ปัญหาการวิจัย อาจเป็นปัญหาจากการปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติคิดว่าต้องทำให้ได้ตามคาด หรืออาจเป็นปัญหาเชิงวิชาการ ที่นักวิชาการคิดว่ายังเข้าใจได้ไม่ชัดเจน ดังนั้นผู้วิจัย ต้องทำความเข้าใจกับปัญหาการวิจัยของตนเอง และเขียนให้สอดคล้องกัน อันดับที่สอง ต้องเข้าใจ ส่วนประกอบของการระบุปัญหาการวิจัย การระบุปัญหาการวิจัย หมายถึง กระบวนการที่นักวิจัยทำให้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่างานวิจัยที่ทำ ตอบคำถามใด กับกลุ่มเป้าหมายใด บนพื้นฐานความรู้ใดหรือข้อตกลงเบื้องต้นว่าอย่างไร ดังนั้น นักวิจัยต้องอธิบายโดยการเขียนในหัวข้อต่อไปนี้ให้ชัดเจนคือ ที่มาและควาทสำคัญของการวิจัย คำถามการวิจัย จุดมุ่งหมายการวิจัย ขอบเขตการวิจัย และ ข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย โดยในแต่ละหัวข้อมีรายละเอียดที่สำคัญคือ ที่มาหรือภูมิหลังของประเด็นปัญหา ให้เขียนเกี่ยวกับ สถานภาพของปรากฏการณ์ ว่ามีปัญหาอย่างไร เช่นถ้าตัวแปรตามเป็นความพึงพอใจต่อการบริการ ก็ต้องแสดงสถิติของ ความพึงพอใจที่มีตำ่กว่าเป้า หรือมีการบ่นว่าของผู้รับบริการ และถ้าปัญหานั้นเป็นปัญหาทางวิชาการก็ต้องแสดงให้เห็นว่า การวิจัยในอดีตอธิบายในเรื่องเหล่านั้นแล้วยังมีปัญหาของความรู้ความเข้าใจ ความคลาดเคลื่อนของการอธิบายตรงจุดไหน โดยอาจวิเคราะห์ให้เห็นว่าข้อสรุปของงานวิจัยที่ผ่านมา ยังอธิบายได้น้อย ความสำคัญของการวิจัย ต้องเขียนให้สอดคล้องว่า เมื่ิอทำวิจัยแล้วจะเกิดประโยชน์เชิงมูลค่า หรือคุณค่าเพิ่มอย่างไร และในเชิงวิชาการจะทำให้สร้างความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ มีดีกว่าเดิมอย่างไร คำถามการวิจัยและจุดมุ่งหมายก็อาจเลือกเขียนอันหนึ่งก็ได้ จุดอ่อนของการเขียนมักพบว่า แยกจุดประสงค์หลักและรองไม่ชัดเจน เขียนจุดมุ่งหมายค์มากข้อเกินไป เขียนจุดมุ่งหมายหลักไม่เป็นภาพต่อของจุดมุ่งหมายรอง ใช้คำที่เน้นกระบานกรวิจัยมากกว่าเป้าหมายของการวิจัย เขียนไม่สะท้อนวิธีวิทยาของการวิจัยในจุดประสงค์ เอาผลหรือประโยชน์ จากการวิจัยมาเขียนเป็นจุดมุ่งหมาย เขียนหลายข้อที่ซ้อนกันเอง ใช้คำที่ไม่สะท้อนตัวแปร หรือเป้าหมายของความรู้ที่ชัดเจน ขอบเขตของการวิจัย เขียนให้ครอบคลุม ว่างานนี้มีขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย ขอบเขตด้านวิธีวิจัย และขอบเขตด้านทบ. ใด นอกจากนี้นักวิจัยที่ดีความเข้าใจและเขียนแสดงจุดยืนข้อตกลงเบื้องต้ยของการวิจัยโดย กล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับ ontology หรือ epistemology ของตนด้วย