อย่าทำร้ายงานวิจัยเชิงปริมาณ
คุณเคยคิดบ้างไหมว่า
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์หรือพฤติกรรมศาสตร์อาจขาดความน่าเชื่อถือ เพราะนักวิจัยขาดความรับผิดชอบในกระบวนการทำวิจัย
คือ ขาดความรอบคอบ ในการออกแบบการวิจัยซึ่งเป็น
ส่วนประกอบสำคัญที่จะให้ตอบคำถามวิจัยได้อย่างมีข้อโต้แย้งน้อยสุด
จะออกแบบการวิจัยอย่างไร
เพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลของตัวแปรภายนอกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวอย่างเช่น
คำถามของการวิจัยว่า “การเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษา
จะมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหรือไม่” ในโจทย์วิจัยนี้มีตัวแปร 2
ตัว คือ ตัวแปรอธิบาย ได้แก่ การเรียนการสอนตามแนวปฏิรูป และตัวแปรตาม คือ
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ในกรณีนี้ไม่ว่านักวิจัยจะทำการวิจัยเชิงทดลองหรืองานวิจัยเชิงสัมพันธ์จะมีตัวแปรมากมาย ได้แก่
เพศ อายุ IQ
ความถนัด เจตคติ ที่เป็นลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง
หรือประเภทของครู
ลักษณะของโรงเรียนซึ่งเป็นตัวแปรเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของกลุ่มตัวอย่าง
ที่เรียกว่าตัวแปรภายนอก
ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่มิใช่ตัวแปรที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตามแต่อาจส่งผลต่อตัวแปรตาม
ถ้างานวิจัยทั้งหลายปล่อยให้ตัวแปรภายนอกเหล่านี้เป็นอิสระ การทดสอบทางสถิติ
และผลของการวิจัยอาจเป็นเพียงภาพลวงของปรากฏการณ์จริง
ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงทดลองนักวิจัยควบคุมตัวแปรภายนอกโดยการเลือกกลุ่มที่มีความแตกต่างกันในตัวแปร เพศ
อายุ หรือ
เลือกเฉพาะกลุ่มที่มีลักษณะเพียงด้านเดียว
หรืออาจควบคุมโดยใช้เทคนิคของการประมาณค่า เช่น
การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม ตัวแปรที่เหลือก็ใช้การสุ่มเข้ากลุ่มเป็นการขจัดอิทธิพลของการเป็นตัวแปรที่ไม่ได้ควบคุม
มิให้ปนเปื้อนหรือแทรกซ้อนกับตัวแปรอธิบาย ดังนั้นการสุ่มเข้ากลุ่มจึงเป็นเทคนิคของการควบคุมตัวแปรภายนอกแบบหนึ่ง
ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงความสัมพันธ์
นักวิจัยจะต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวแปรภายนอกเหล่านี้ให้มากที่สุด
หรือเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน
แล้วใช้เทคนิคของการประมาณค่าเพื่อขจัดอิทธิพลของตัวแปรภายนอก
ตัวแปรที่เหลือปล่อยให้เป็นความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม ซึ่งผู้วิจัยไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการปนเปื้อนของตัวแปรภายนอกกับตัวแปรอธิบายได้เลยถ้าขาดการใส่ใจกับการสุ่มตัวอย่าง
ข้อสรุปจากการทดสอบทางสถิติของงานวิจัยที่ต้องการอธิบายปรากฏการณ์
แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวแปรภายนอกที่สำคัญ เป็นข้อสรุปที่ขาดความน่าเชื่อถือ ลองคิดดูว่า
ถ้ามีผู้ทำวิจัยเชิงสัมพันธ์ที่ต้องการศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างการจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
โดยการเก็บข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เพื่อเปรียบเทียบว่านักเรียนทั้งสองกลุ่มมีประสบการณ์เรียนรู้จากกระบวนการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษาแตกต่างกันหรือไม่
ถ้าพบว่านักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง มีประสบการณ์การเรียนตามแนวปฏิรูปการศึกษาสูงกว่า นักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อสรุปนี้ นำไปสู่การอธิบายอะไร? อธิบายว่า
ถ้าจะต้องการให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง น่าจะจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูป การวิจัยนี้ขาดความน่าเชื่อถือเพราะนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงอาจมี
ความสามารถในการเรียน หรือ
ทัศนคติต่อการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษา
ที่แตกต่างไปจากนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ แต่ผู้วิจัยไม่ควบคุม และตัวแปรเหล่านี้เองที่อาจเป็นตัวแปรปนเปื้อนอยู่ในคำอธิบายผลจากการวิจัยครั้งนี้ ลองคิดดูซิว่ามีผลงานวิจัยจำนวนมากน้อยเท่าไรที่ทำการวิจัยแบบนี้ งานวิจัยในลักษณะดังกล่าวนี้มีข้อสรุปที่ขาดความน่าเชื่อถือ
ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงทดลองที่มีการสุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลอง
ร่วมกับการควบคุมตัวแปรภายนอกบางตัวที่มีผลต่อตัวแปรตาม
จะทำให้การอธิบายผลที่ได้จากการวิจัยมีความน่าเชื่อถือสูง แต่มีงานวิจัยน้อยเรื่องที่สามารถทำการสุ่มเข้ากลุ่มได้อย่างแท้จริง
เช่นงานวิจัยทางการศึกษาที่ต้องทำวิจัยกับนักเรียนทั้งห้อง ดังนั้น
ผลจากการวิจัยเชิงทดลองที่ไม่กล่าวถึงตัวแปรภายนอกที่ถูกควบคุมอาจขาดความน่าเชื่อถือ
ในการวิจัยเชิงทดลอง
กลุ่มควบคุม มิได้หมายถึง กลุ่มที่ไม่ได้รับกิจกรรมที่กลุ่มทดลองได้รับเท่านั้น
แต่หมายถึง
กลุ่มที่ทำให้ผู้วิจัยประมาณค่าของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในกลุ่มทดลองได้อย่าง
ถูกต้องน่าเชื่อเมื่อได้ควบคุมปัจจัยภายนอกอื่นๆแล้ว
ข้อแนะนำสำหรับนักวิจัยเชิงปริมาณที่ต้องการข้อสรุปจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือคือ
ขณะที่ออกแบบการวิจัยให้แบ่งตัวแปรออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1)
ตัวแปรอิสระหรือตัวแปรอธิบาย
หมายถึงตัวแปรที่เราต้องการศึกษาว่าจะสามารถอธิบายตัวแปรตามได้หรือไม่ อย่างไร
ตัวแปรอื่นจัดเป็นตัวแปรภายนอกทั้งหมด ซึ่งมี 3 ประเภทต่อไปนี้
2) ตัวแปรภายนอกที่ควบคุม
หมายถึง ตัวแปรที่มีผลต่อตัวแปรตามที่ผู้วิจัยนำมาร่วมศึกษาด้วยในงานวิจัย
หรือทำการควบคุมไว้โดยการเลือกให้คงที่ 3)
ตัวแปรภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้
แต่อาจปะปนอยู่กับตัวแปรอิสระหรือตัวแปรอธิบายในข้อแรก และ 4) ตัวแปรภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้
จัดให้เป็นตัวแปรความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม
ในการออกแบบการวิจัยเชิงทดลองและการวิจัยเชิงความสัมพันธ์ผู้วิจัยพยายามทำให้
ตัวแปรภายนอกทั้งหมดให้เป็นตัวแปรในกลุ่มที่ 2 หรือตัวแปรภายนอกที่ควบคุมให้ได้มากที่สุด
การวิจัยเชิงทดลองมีเครื่องมือในการควบคุมตัวแปรที่ได้เปรียบการวิจัยเชิงความสัมพันธ์
นั่นคือการสุ่มเข้ากลุ่มที่จะทำให้ตัวแปรในกลุ่มที่ 3 เป็นตัวแปรในกลุ่มที่
2 ทั้งหมด
ดังนั้นในการวิจัยเชิงทดลองที่ดีจึงไม่น่าจะมีตัวแปรในกลุ่มที่ 3 แต่การวิจัยเชิงสัมพันธ์ทำได้ยากกว่า แต่อาจใช้เทคนิคของการจับคู่
หรือเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลเข้าช่วย นักวิจัยที่มีความรับผิดชอบต้องไม่ปล่อยให้ตัวแปรภายนอกที่ไม่ได้ควบคุมเป็นอุปสรรคต่อความน่าเชื่อถือของงานวิจัยของคุณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น