วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กว่าจะเป็นปัยหาการวิจัย


ก่อนจะเป็นปัญหาการวิจัย

นักวิจัยรุ่นเยาว์หรือนักศึกษาระดับบัณทิตศึกษาที่เริ่มทำวิจัย จะมีคำถามเสมอว่า ดิฉัน/ผมจะทำวิจัยเรื่องอะไรดีบ้างก็บอกอย่างเบื่อหน่ายว่า กำลังมองหาหัวข้ออยู่ โดยที่ความจริงแล้วสิ่งที่กำลังพูดอยู่นี้ น่าจะหมายถึงการหาปัญหาการวิจัยที่ดีนั่นเอง

ปัญหาการวิจัยที่ดีนั้น อาจเริ่มต้นจาก การมีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วค่อยๆ พัฒนาไปเป็นปัญหาการวิจัยที่ชัดเจน เช่น ความสนใจของเราอาจเกี่ยวกับเรื่อง ผู้บริหารกับผลประโยชน์ขัดแย้ง วัยรุ่นกับพฤติกรรมทางเพศ  นักข่าวกับจรรยาบรรณในวิชาชีพ เหล่านี้มิใช่ปัญหาการวิจัยที่ดี แต่เป็นแค่ประเด็นความสนใจกว้างๆ

ปัญหาการวิจัยที่ดีควรมีลักษณะลึก  ริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อการสร้างความรู้เชิงวิชาการและการแก้ปัญหาสำคัญ การเขียนปัญหาการวิจัยอาจเขียนในรูป ประโยคคำถามหรือเขียนในรูปของจุดประสงค์ก็ได้  นักวิจัยรุ่นเยาว์มักเลือกปัญหาการวิจัยเร็วเกินไป  ก่อนจะทำการศึกษาอย่างลึกซึ้ง หรือมองไม่เห็นว่ามีปัญหาการวิจัยหลังจากอ่านผลการวิจัยต่างๆแล้วเพราะเข้าใจว่ามีคนอื่นทำวิจัยไปหมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่เลยเพราะความสนใจของนักวิจัย สร้างเป็นปัญหาการวิจัยได้เสมอเมื่อมีการขัดเกลาที่เหมาะสม  การทำวิจัยที่ดีเริ่มจากการเลือกปํญหาการวิจัยที่ดี  ซึ่งทำได้ยากหน่อยสำหรับนักวิจัยรุ่นเยาว์  มีคำกล่าวหาหรือคำวิจารณ์ของอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับปัญหาการวิจัยคือ มันกว้างไป มันไม่น่าสนใจ มันยังไม่มีอะไรใหม่ และนักวิจัยรุ่นเยาว์ก็ไม่รู้ว่าจะไปปรับปรุงอย่างไร

ลักษณะของปัญหาการวิจัยที่กว้างเกินไปเป็นลักษณะที่ปรับปรุงได้ง่ายกว่าจุดบกพร่องอื่น เช่นเดิมนักวิจัยอาจมีปัญหาการวิจัยว่า การฝึกอบรมมีประสิทธิผลหรือไม่  ผลการปฏิบัติงานวัดอย่างไร อะไรทำให้องค์กรมีประสิทธิผล วัยรุ่นรู้เท่าทันสื่อหรือไม่ ปัญหาการวิจัยเหล่านี้จะชัดเจนขึ้น โดยการระบุตัวแปรที่เฉพาะเจาะจง เช่นการใช้เทคนิคแม่แบบเพื่อพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำมีผลอย่างไร  แรงจูงใจในการปฏิบัติงานของพนักงานและภาวะผู้นำของหัวหน้ามีผลต่อประสิทธิผลขององค์กรอย่างไร  วัยรุ่นที่มีโครงสร้างของครอบครัวแตกต่างกับจะมีการรู้เท่าทันสื่อต่างกันอย่างไร

แล้วจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ปัญหาการวิจัยสร้างสรรค์ สำคัญ และมีผลกระทบ เราทำได้โดยอาศัยความรู้ และทักษะต่อไปนี้ 1)  ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆของการทำงานวิจัยได้แก่ การออกแบบการวิจัย  การรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล  2) ทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ และ  3)  ทักษะการสังเคราะห์งานวิจัย การอ่านอย่างมีวิจารณญาณทำโดย เลือกงานวิจัยในเรื่องที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับคำถามการวิจัย อ่านและทำความเข้าใจว่างานเรื่องนั้นทำงานวิจัยในรูปแบบใด กับใคร ตัวแปรวัดอย่างไร ผลเป็นอย่างไรก็ต้องวิเคราะห์ วิจารณ์ข้อดี ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อน่าสงสัยเกี่ยวกับทฤษฎี การวัด การวิเคราะห์ และผลการวิจัย ในขณะที่อ่านงานวิจัยแต่ละเรื่อง จากนั้นนำงานวิจัยหลายๆเรื่องมาสังเคราะห์เพื่อหาว่าอะไรที่ยังเป็นคำถามอีกบ้าง

ปัญหาการวิจัยที่สร้างสรรค์นั้นยากหน่อย เพราะความสร้างสรรค์เป็นจินตนาการบวกกับทักษะความชำนาญในสาขา ปัญหาการวิจัยของนักวิจัยรุ่นเยาว์มักขาดความสร้างสรรค์หรือแม้แต่ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งในประเทศและต่างประเทศบางเรื่องก็ไม่สร้างสรรค์ และเพราะความสร้างสรรค์ไม่มีขอบเขต ดังนั้นปัญหาการวิจัยที่เราคิดว่าสร้างสรรค์อาจไม่สร้างสรรค์สำหรับอีกคนก็เป็นไปได้

ปัญหาการวิจัยจะต้องมีความใหม่ หมายความว่าเป็นปัญหาที่ยังไม่มีใครตอบ หรือเป็นปัญหาที่ต้องการคำตอบแนวใหม่ ดังนั้นถ้าเราทราบว่า มีผู้ทำวิจัยเสร็จและพบว่าการใช้เทคนิคแม่แบบพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำของนักเรียนระดับประถมศึกษาแต่มีขนาดอิทธิพลน้อย และเรามีข้อสันนิฐานว่าการพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำที่เกิดขึ้นจะไม่ยั่งยืนถ้ามิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักเรียน  เราอาจปรับปัญหาการวิจัยเป็น การใช้เทคนิคแม่แบบและกระบวนการกระจ่างค่านิยมร่วมกันจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำได้หรือไม่

นอกจากนี้ปัญหาการวิจัยต้องมีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อวิชาการ นักวิจัยรุ่นเยาว์อาจสร้างปัญหาการวิจัยจากการร่วมงานวิจัยกับนักวิจัยที่มีประสบการณ์ เพราะจะได้เรียนรู้งานวิจัยที่มีความซับซ้อน  หรือจากการอ่านหนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งที่จะทำให้ปัญหาการวิจัยชัดเจนขึ้น  เช่น นักวิจัยที่สนใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคมของนักเรียนประถมศึกษาที่มีความสามารถพิเศษ หลังจากได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ ลักษณะเฉพาะของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ  พัฒนาการทางสังคม อาจมีปัญหาการวิจัยที่ชัดเจนขึ้น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสติปัญญาและการเลือกสังคมมิติระหว่างเด็กนักเรียนประถมปีที่ห้าเป็นอย่างไร หรือ  ปัญหาการปรับตัวทางสังคมของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเป็นอย่างไร

ปัญหาการวิจัยที่ดีอาจเป็นการทดสอบทฤษฎีที่เกี่ยวของกับประเด็นที่นักวิจัยสนใจ ทฤษฎีที่ดีต้องสามารถใช้เพื่อการอธิบายปรากฏการณ์ได้หลากหลาย  ทฤษฎีมักประกอบด้วยการระบุความเกี่ยวข้องระหว่างเหตุการณ์  และตัวแปรที่ใช้เพื่อบอกเกี่ยวกับเหตุการณ์ เช่นทฤษฎีเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวลกับการเรียนรู้  กล่าวว่า  นักเรียนที่มีความวิตกกังวลต่ำจะทำงานได้ดีกว่านักเรียนที่มีความวิตกกังวลสูงในงานที่มีความยาก นักวิจัยอาจทดสอบทฤษฎีในการเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 4 ในวิชาการสอนวิทยาศาสตร์ โดยมีงานที่มีความง่ายและยากในระดับต่าง ๆ โดยใช้นักศึกษาที่มีความกังวลหลายระดับ แล้วทำการสังเกตการสอนของนักศึกษา ปัญหาการวิจัยที่ทดสอบทฤษฎีมีข้อดีหลายประการคือ ทฤษฎีจะเป็นเหตุผลในการอธิบายผลการวิจัย ทฤษฏีให้กรอบการวิจัยเกี่ยวกับตัวแปรและความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปร

ผลงานวิจัยที่มีความสำคัญต้องมาจาก ปัญหาการวิจัยที่ดี และปัญหาการวิจัยที่ดีต้องมีผลกระทบต่อวิชาการหรือการแก้ปัญหาที่สำคัญของสังคม ถ้าการทำวิจัยนั้นไม่เพิ่มพูนความรู้ หรือไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา ก็ไม่คุ้มค่าที่จะทำวิจัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น