วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาทักษะนักวิจัยในมหาวิทยาลัย (1)


การพัฒนาทักษะนักวิจัยในมหาวิทยาลัย (1)

ทักษะเชิงวิชาชีพมักประกอบด้วยความรู้ ความสามารถและจิตลักษณะที่จะนำไปสู่ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นๆ ความรู้ของนักวิจัยประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน ได้แก่การกำหนดปัญหาการวิจัย การออกแบบการวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และการสรุปผลการวิจัย ความสามารถของนักวิจัย ประกอบด้วยความสามารถด้านการคิดหลายประการ ได้แก่ความคิดหลากหลาย คิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดเชิงเหตุ-ผล คิดวิจารณญาณ คิดเชิงวิพากษ์ และจิตลักษณะ ประกอบด้วยความชอบ ความมุ่งมั่นจดจ่อ กัดติด จนบรรลุคำตอบของการวิจัย       และ ความซื่อตรงและรับผิดชอบต่องานของตน

คนทุกคนมิได้เกิดมาพร้อมกับความรู้ ความสามารถ และลักษณะเหล่านี้ติดตัวมาด้วย แต่ต้องมาค้นหา แล้วพัฒนาอย่างถูกวิธีจึงจะสามารถบรรลุความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ ความรู้ความสามารถของการเป็นนักวิจัย บางส่วนเรียนรู้ได้จากการอ่าน  การปฏิบัติ และเขียนเพื่อถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้ หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่อ่าน ยิ่งได้ทำในสิ่งเหล่านี้มากเท่าใด ก็จะเกิดเป็นความรู้ ความสามารถที่ลึกซึ้งขึ้นตามระยะเวลา

การเรียนในระดับอุดมศึกษา จะมีวิชาวิจัยที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำในสิ่งเหล่านี้ แต่จุดอ่อน คือ ผู้เรียนบางคนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรม จึงทำงานแบบคัดลอกมาส่งซ้ำๆกัน อีกทั้งผู้สอนไม่มีโอกาสได้สะท้อนคุณภาพและความลึกซึ้งของผลงานให้กับผู้เรียน จึงทำให้ผลจากการเรียนรู้ไม่บรรลุเป้าหมาย จนกระทั่งอาจารย์หลายคนบ่นว่า นักเรียนไม่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความคิดและสื่อสารได้อย่างเหมาะสม ทำให้ต้องดูแลกันอย่างมากทีเดียว

การฝึกทักษะการอ่านสำหรับงานวิจัยนั้น มิใช่เพียงอ่านจับใจความ ซึ่งก็ยากอยู่แล้วสำหรับบางคนที่สมาธิไม่ดี แต่ต้องอ่านเชิงวิเคราะห์ และตั้งคำถามและข้อถกเถียงกันตลอดเวลา เช่น มีเงื่อนไขภายในงานวิจัยใด ที่มีผลต่อข้อสรุปที่น่าเชื่อถือของงานวิจัย  เช่น ผลสรุปจากงานวิจัยกล่าวว่า การเรียนในโรงเรียนเอกชน มีผลสัมฤทธิ์ของการเรียนวิชาภาษาอังกฤษสูงกว่าการเรียนในโรงเรียนของรัฐ ดังนั้นการเรียนในโรงเรียนเอกชนมีผลทำให้ภาษาอังกฤษดีกว่าเป็นการสรุปที่ขาดความน่าเชื่อเพราะตัวอย่างที่ใช้มาจากกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนเอกชนและนักเรียนในโรงเรียนของรัฐ ทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนในโรงเรียน เพราะผู้ปกครองอาจมีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมแตกต่างกัน มีค่านิยมทางด้านการศึกษาแตกต่างกันและนักเรียนอาจมีแรงจูงใจทางด้านการเรียนแตกต่างกันตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนในโรงเรียน

การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะด้านการอ่าน ทำโดยให้ผู้เรียนอ่านงานวิจัยในลักษณะต่างๆตั้งแต่ งานวิจัยเชิงสำรวจ งานวิจัยเชิงประเมิน และงานวิจัยเชิงทดลอง เป็นต้น  แล้วจัดให้มีการสนทนากับผู้รู้ ในประเด็นต่างๆเช่น 1)ข้อสรุปจากงานวิจัยมีข้อจำกัดอะไร ที่ผู้วิจัยมิได้กล่าวถึงในขอบเขตของงานวิจัย ข้อจำกัดนี้ส่งผลต่อข้อสรุปอย่างไร   2)เราจะมีวิธีการอะไรที่จะทดสอบว่าผลการวิจัยนี้อาจเป็นตรงกันข้าม 3)เราจะแก้ไขปัญหาก็เป็นข้อจำกัดของงานวิจัยนี้อย่างไร

การฝึกสังเคราะห์สิ่งที่อ่าน เป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักวิจัย เพราะก่อนและระหว่างวิจัยต้องอ่านงานวิจัย และเอกสารอื่นอีกมากมาย ถ้าสังเคราะห์ไม่เป็นจะไม่สามารถสร้างประเด็นที่มีฐานมาจากความรู้เดิม การสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยจะทำให้นักวิจัยสามารถสร้างกรอบแนวคิดที่จะต่อยอดและสร้างสรรค์ได้ การสังเคราะห์ทำได้หลายวิธี อาจเริ่มจากการกำหนดกรอบของการสังเคราะห์ หรือไม่กำหนดกรอบของการสังเคราะห์ก่อน หรือผสมผสานกันก็ได้ เช่น ประเด็นว่าจะพัฒนาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้มีทักษะในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างไรอาจกำหนดกรอบของการสังเคราะห์ว่า การฝึกอบรม แหล่งเรียนรู้ระหว่างการทำงาน แรงจูงใจ ภูมิหลังก่อนเป็นอาจารย์ และวัฒนธรรมขององค์กร ส่งผลต่อทักษะในการทำวิจัยเท่าใดและอย่างไร  หรือกำหนดกรอบหลังจากอ่านงานทุกเรื่องแล้วก็ได้

การฝึกให้ผู้เรียนสามารถสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยได้ ต้องเริ่มจากประเด็นแคบๆก่อน เช่น เลือกงานวิจัยที่มีตัวแปรต้นและตัวแปรตาม เหมือนกัน  5 เรื่องแล้วให้สังเคราะห์เพื่อให้หาข้อสรุปว่า

1)      งานวิจัยทั้งหมดมีผลเหมือนกันอย่างไร และข้อสรุปมีบริบทแบบใด

2)      งานวิจัยทั้งหมดมีผลแตกต่างหรือไม่ อะไรเป็นสาเหตุของความแตกต่าง

3)      คำถามใดที่งานวิจัยทั้งหมดยังไม่ตอบ หรือตอบแล้วแต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ

4)      เราควรทำงานในเรื่องวิจัยใดต่อไป เพราะเหตุผลใด

 

ปัญหาการทำวิจัยของผู้เรียน ในมหาวิทยาลัยคือ เราเน้นการอ่านเชิงวิเคราะห์น้อยไป ขาดการสังเคราะห์ และตั้งสมมติฐานเร็วเกินไป

เมื่อฝึกการอ่านแล้ว อันดับต่อไปต้องฝึกทำวิจัยโดยมีครูอาจารย์ เป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ในขั้นตอนสำคัญๆเริ่มจากขั้นการกำหนดประเด็นการวิจัย และสมมติฐาน การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์และการสรุปผลการวิจัย การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะการวิจัย บทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงนี้ต้องเน้นความเสมอภาค การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หมายความว่าทั้งสองฝ่ายต้องเท่าเทียมกันบนฐานของเหตุและผล มิใช่ว่าอาจารย์ต้องเป็นฝ่ายบอกเสมอว่าต้องทำอะไรหรือต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หมายถึงทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมตัวและหาข้อมูล ข่าวสารต่างๆมาแลกเปลี่ยนกันและกัน การจะทำดังนี้ได้ทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักในบทบาทของตนเอง สมัครใจและเห็นประโยชน์ร่วมกัน    หลายต่อหลายครั้งที่ผู้สอนจะพบว่าตนเองก็ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นพร้อมๆผู้เรียน

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง หลายสาขา เน้นการผลิตเพื่อการหารายได้และไม่สามารถบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้สอนไม่มีเวลาให้กับผู้เรียนมากพอที่จะช่วยพัฒนาทักษะของผู้เรียนอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนบางคนมุ่งหวังใบปริญญามากกว่าต้องการพัฒนาตนเอง

การเขียนเป็นทักษะที่ต้องพัฒนาอย่างมาก ในปัจจุบันที่นักเรียน นักศึกษา มีโอกาสฝึกเขียนน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นการตัดและแปะ การสอบแบบปรนัย การเขียนแบบไม่เป็นทางการเพื่อการสื่อสารที่ฉับไวบนมือถือและอินเตอร์เน็ต การเขียนที่ดีนั้นผู้เขียนต้องคำนึงถึงผู้อ่านเป็นสำคัญ ขณะที่เขียนต้องสมมติตัวเองเป็นผู้อ่านด้วยว่า เขาจะชอบไหม ผู้อ่านเป็นคนแบบไหน เขียนแบบใดจึงจะเหมาะสม การเขียนต้องเขียนจากสิ่งที่เรารู้อย่างชัดเจนและใช้ประโยคที่ตรงประเด็น ไม่ออกนอกประเด็น ไม่เน้นความไพเราะมากกว่าความแจ่มแจ้ง

การฝึกเขียนแบบนักวิจัยนั้น  ต้องสามารถเขียนเชิงพรรณนา เพื่ออธิบายสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ ข้อเท็จจริง เขียนแบบถกเถียงในประเด็นที่ต้องการให้ผู้อ่านคิดในเชิงเห็นด้วย สนับสนุนหรือขัดแย้ง เขียนแบบสรุปจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ โดยทั้งนี้ต้องมีความสามารถในการสร้างกรอบความคิดที่จะเขียน สร้างหัวข้อย่อยหัวข้อรองและใช้รูปแบบการเขียนเชิงวิชาการได้อย่างถูกต้อง

ทักษะเกิดจากการฝึกหลายๆครั้ง จนเกิดความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆการพัฒนาทักษะนักวิจัยก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เทอมแรกจนถึงเทอมสุดท้าย มิใช่มาพัฒนากันตอนทำปริญญานิพนธ์เท่านั้น และบางครั้งเราจะพบว่าบัณฑิตบางคนไม่เคยได้รับการฝึกฝนทักษะนักวิจัยเลย แม้จะได้รับปริญญาไปครอบครองแล้วก็ตาม

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น