วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาทักษะของนักวิจัยในมหาวิทยาลัย(2)


การพัฒนาทักษะของนักวิจัยในมหาวิทยาลัย(2)

ผู้สอนระเบียบวิธีวิจัยในมหาวิทยาลัยยังคงสอนแบบเน้นความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนของการวิจัย และให้ทดลองเขียนเค้าโครงการวิจัยตามความสนใจของผู้เรียน  เพื่อให้นำความรู้ในขั้นตอนต่าง ๆ มาประสานกันได้อย่างกลมกลืน  รูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้เกิดขึ้นและยังคงอยู่มานานแล้ว  การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบอื่นๆมาใช้เป็นบ้าง  จะทำให้เกิดทางเลือกในการพัฒนาการเรียนการสอนมากขึ้น

ผู้รู้และนักวิจัยอาชีพหลายคนมีความเห็นว่า  เราควรเปลี่ยนวิธีการสอนที่เน้นความรู้  มาเป็นการเน้นการสร้างทักษะนักวิจัยให้มากขึ้น  กิจกรรมที่มีผู้ใช้มากคือ การให้ผู้เรียนทำโครงการวิจัยร่วมกัน

การใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามของโครงการวิจัยใหญ่ ๆ ที่มีอยู่เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจหลักการหรือแนวคิดทางจิตวิทยาหรือสังคมวิทยา รวมทั้งตั้งคำถามการวิจัย  การฝึกเป็นที่ปรึกษา ฝึกให้คำปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงกับโครงการวิจัย  การนำเสนอผลการวิจัยในงานสัมมนาและเป็นผู้จัดงานซิมโปเซียม  ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการฝึกทักษะนักวิจัยทั้งสิ้น

สิ่งสำคัญในการออกแบบการเรียนการสอนในหนึ่งเทอม ให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทักษะ คือ 1) ต้องระบุขอบเขตของความสามารถสำคัญในสาขาวิชาชีพว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น  นักวิจัยทางการศึกษา  ต้องมีทักษะของการวิจัยด้านการวิจัยเชิงปฏิบัติการสูง  ในขณะที่นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ต้องมีทักษะกระบวนการวิจัยเชิงทดลองในห้องปฏิบัติการสูง เป็นต้น  2) ต้องกำหนดบริบทของงานวิจัยที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่กล่าวถึงในข้อ 1 และบริบทต้องพอเพียงต่อการพัฒนาทักษะอย่างครบถ้วนภายใต้เวลาอันจำกัด  3)  ต้องเชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่เป็นประสบการณ์ในการเรียนการสอนกับสิ่งที่อยู่ในหนังสืออย่างต่อเนื่อง  4) ต้องวางแผนให้ผู้เรียนเกิดความประทับใจและภาคภูมิใจในผลงาน เมื่อทำงานเสร็จ  และ 5) ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัยไม่ว่าจะเป็น กลุ่มตัวอย่างหรือผู้ใช้งานวิจัย

ตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นผลของการทดลองสอนจริงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  ผู้สอนแบ่งเนื้อหาของวิชาวิธีการวิจัยออกเป็น 5 ด้าน  ประกอบด้วย  1) งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์เบื้องต้น  2) การออกแบบการวิจัยและการวัดตัวแปร  3) การรวบรวมข้อมูล  4) การวิเคราะห์ข้อมูล และ 5) การตีความและการนำเสนอข้อมูล  การเรียนการสอนในแต่ละด้านกินเวลาประมาณ 3 4 อาทิตย์  แต่ละครั้งจะมีการมอบหมายงานโดยที่งานแต่ละชิ้นจะนำไปสู่งานชิ้นต่อ ๆ ไป  จนกระทั่งเสร็จงานวิจัย

งานที่มอบหมายให้ผู้เรียนทำประกอบด้วย  1) การวิเคราะห์การรายงานข่าวเกี่ยวกับการสำรวจเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือพิมพ์  ทักษะที่พัฒนาในงานชิ้นนี้ได้แก่  ทักษะการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์  โดยการเปรียบเทียบ ระหว่างการวิจัยเชิงสำรวจที่มีระเบียบระบบ กับการสำรวจทั่วไปที่ใช้ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร  เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับความรู้  เรื่องการสุ่มตัวอย่าง  การสร้างข้อคำถาม  ความเที่ยงตรง และความเชื่อมั่นของเครื่องมือวัด  2) การวิเคราะห์รายงานการวิจัยในวารสารทางวิชาการที่ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงสำรวจ  ผู้เรียนจะพัฒนาความสามารถด้านการเขียนสมมติฐาน  รู้จัก ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม  วิธีการที่หลากหลายในการเก็บข้อมูล  ขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม  นอกจากนี้ยังพัฒนาทักษะการวิพากษ์งานวิจัย  ได้พัฒนาความสามารถในการเขียนอ้างอิง  การเขียนเกี่ยวกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  3)เขียนเค้าโครงการวิจัย  งานชิ้นนี้ผู้เรียนจะได้ฝึกการเขียนสมมติฐานการสร้างนิยามสำหรับตัวแปร  การประมวลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  และเชื่อมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้กลมกลืน  4) การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์  ผู้เรียนได้ฝึกทักษะด้านการสุ่มตัวอย่าง  การสร้างข้อคำถามและการสัมภาษณ์  5) การสร้างรหัสสำหรับจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์  พัฒนาทักษะด้านการจัดเตรียมตัวแปรและการจัดการกับข้อมูลกรณีที่ผู้ตอบบางคนไม่ใช้ข้อมูลที่ครบถ้วน  6) การฝึกใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล  พัฒนาทักษะการใช้คอมพิวเตอร์  การใช้สถิติเชิงพรรณนา และการใช้สถิติเชิงอ้างอิงแบบต่าง ๆ  การตรวจสอบข้อตกลงเบื้องต้น  การสร้างแฟ้มข้อมูลที่จัดการกับข้อมูลรูปแบบที่ไม่เหมาะสมแล้ว  7) การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยการพูด  การโต้ตอบกับผู้ฟังที่มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของความสนใจ และความรู้  8) การเขียนผลการวิจัย  พัฒนาทักษะการเขียนเชิงวิชาการ

การมอบหมายงานแต่ละชิ้น ต้องระบุเป็นลายลักษณ์อักษร (เฉพาะผู้เรียนมักลืมหลังจากออกจากห้องเรียน)  โดยชี้แจงจุดประสงค์ของงานชิ้นนั้น  ประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับ และความเกี่ยวข้องกับงานชิ้นที่ผ่านมา  ระบุแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อการทำงานให้เสร็จและมีคุณภาพ  ตั้งคำถามที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดตามและหาข้อมูลเพิ่มเพื่อตอบคำถาม และสุดท้ายคือ ระบุวัน เวลา ของการส่งงาน  รวมทั้งคะแนนของงาน  จะเห็นว่าการมอบหมายงานเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเรียนรู้ของผู้เรียน  ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ  เพราะผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของผู้เรียน  ซึ่งน่าจะหมายถึงวางแผนจัดหา  อุปกรณ์  สร้างกิจกรรม  ให้คำชี้นำ  ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่ผู้สอนหลายคน กลับถือโอกาสนี้ทำเพียงให้งานแล้วให้ผู้เรียนไปค้นหาทางและอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนรู้เรื่องที่ผู้เรียนยังไม่คุ้นเคย แต่ขาดคนชี้ทาง อาจทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ หรือขาดกำลังใจในการเรียนได้

นักวิจัยควรได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรีเป็นต้นไป  สาขาวิชาที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการมักมีเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอน คือ  ให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในสาขาวิชาของตน  ข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาวิชาการกล่าวว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ หลักสูตรต่าง ๆ ควรจัดการเรียนการสอน ควรสร้างประสบการณ์เชิงรุกแก่ผู้เรียนมากกว่าให้เป็นผู้รับความรู้อย่างเดียว  ควรสร้างประสบการณ์ให้เกิดการตั้งคำถามและหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามนั้น ๆ  ควรจัดกิจกรรมที่ผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน  และควรสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับการประยุกต์ความรู้ในสาขากับนโยบายของประเทศ  การสอนโดยใช้งานวิจัยเป็นบริบท นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในสาขาวิชาของตนได้เป็นอย่างดี

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น