เมื่อปริญญานิพนธ์ใช้เทคนิคการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
ใครต่อใครมักกล่าว
ถึง Kurt Lewin ในฐานะผู้คิดค้นและให้ความหมายของคำว่า
action research “a
process whereby one could construct a social experiment” ตัวอย่างของงานวิจัยในยุคแรกๆ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ เลวิน
ทำได้แก่ “การให้ชาวอเมริกันใช้เครื่องในวัวหรือผ้าขี้ริ้ววัว(tripe)ในการปรุงอาหารประจำวัน” โดยมีคำถามวิจัยว่า
แม่บ้านชาวอเมริกันจะได้รับการจูงใจให้ใช้เครื่องในวัวในการปรุงอาหารได้หรือไม่ เพียงใด
? ขั้นตอนในการวิจัยประกอบด้วย 1) การฝึกให้แม่บ้านจำนวนหนึ่งปรุงอาหารโดยใช้เครื่องในวัว
และ 2) สำรวจว่าการฝึกมีผลต่อการทำอาหารในครัวเรือนของแม่บ้านแต่ละคนอย่างไร
นั่นเกิดขึ้นมานานกว่า
60 ปีแล้ว
ปัจจุบันงานวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมีหลายรูปแบบ แต่มีลักษณะร่วมกันคือ ใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม
ที่เกิดจากความสนใจ เต็มใจ
และร่วมกันปฏิบัติการของคนที่อยู่ในพื้นที่หรือเป็นผู้ปฏิบัติในสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ
โดยมีนักวิจัยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการกระบวนการกลุ่ม(moderator)
งานวิจัยนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ทำงานพัฒนาชนบท นักพัฒนาชุมชน และนักวิจัยองค์การ
แต่เมื่อทำเป็นปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนิสิตนักศึกษา
อาจมีความไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลหลายประการ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกหมายถึงอะไร
ปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนักศึกษาควรมุ่งเน้นการสร้างความรู้ใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เริ่มต้นจาก การสังเกต ® สังเคราะห์ ® ตั้งสมมติฐาน ® ทดสอบสมมติฐาน ® สังเกตเพิ่มเติม ® วิเคราะห์สังเคราะห์ ® ปรับสมมติฐาน ® จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือ ในกรณีที่เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ
หรือในการวิจัยเชิงปริมาณ
การสร้างความรู้ใหม่เกิดจากกระบวนการดังนี้
การสร้างกรอบความคิดของความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปรที่ได้มาจากการประมวลเอกสารและงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว
® เขียนสมมติฐาน ® ออกแบบการวิจัยเพื่อการทดสอบสมมติฐาน ® เก็บข้อมูล ® ทดสอบความน่าเชื่อถือของสมมติฐาน ® คงไว้หรือปรับทฤษฎี
ลักษณะของการสร้างความรู้ของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมน่าจะเป็นกระบวนการแบบการวิจัยเชิงคุณภาพมากกว่าการวิจัยเชิงปริมาณ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมแก่การเป็นปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอก
ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน ที่เมื่อขาดส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจะไม่เรียกว่าเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่สมบูรณ์ ส่วนแรก คือ
วิจัย
หมายความว่าต้องมีการสร้างความรู้ใหม่
ส่วนที่สอง เรียกว่า
การมีส่วนร่วม หมายความว่า นักวิจัยทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก (มืออาชีพ) และผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในท้องถิ่น องค์กร
ชุมชน
โดยที่บุคคลเหล่านี้ร่วมกันคิดแผนงาน
ดำเนินงาน
สร้างความรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลตามที่ต้องการ และส่วนที่สาม
คือ การปฏิบัติการ คือ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนกลุ่ม ชุมชน
องค์การ จากจุดเริ่มต้นไปสู่เป้าหมาย โดยใช้แนวทางที่เน้นการจัดการตนเอง ของกลุ่มหรือชุมชน
งานปริญญานิพนธ์ปริญญาเอกหลายเรื่องที่ใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
กล่าวอ้างว่า เกิดองค์ความรู้ หรือเกิดความรู้ใหม่
แต่ไม่เขียนอธิบายให้เห็นว่าอะไรคือความรู้ใหม่ เพราะความรู้ใหม่น่าจะเป็นการค้นพบที่แตกต่าง
หรือเพิ่มเติมไปจากองค์ความรู้ที่ค้นพบเดิม หรือคำอธิบายเดิม ๆ ตัวอย่างของการเกิดความรู้ใหม่ เช่น
การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเรื่องหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนให้สามารถสร้างรายได้และดูแลกิจการของชุมชนได้ด้วยตนเอง นักวิจัยพบว่า
โครงสร้างของสังคมมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากความเข้าใจเดิม ๆ
เกี่ยวกับโครงสร้างของสังคมชนบท
โดยเขียนอธิบาย concept และความเชื่อมโยงของ concept
ไว้อย่างชัดเจน
แตกต่างจากปริญญานิพนธ์บางเรื่องที่เน้นให้เห็นกระบวนการของการทำงานพัฒนามากจนไม่เห็นสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่
นอกจากนี้ยังต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงกระบวนการมีส่วนร่วมที่มิใช่แค่การเข้าร่วมเท่านั้น การมีส่วนร่วมต้องแสดงถึง
การมีส่วนร่วมทางการคิด การลงมือปฏิบัติ และการสะท้อนการปฏิบัติ ร่วมทั้งการวางแผนและการปรับแผนที่มีความเท่าเทียมระหว่างผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย
งานปริญญานิพนธ์หลายเรื่องกล่าวถึงการมีส่วนร่วมในเรื่องของกิจกรรม เช่น
มีการจัดกิจกรรมโดยใช้เทคนิคของการมีส่วนร่วมต่าง ๆ เช่น PRA
AIC แต่ไม่แสดงว่าผู้เข้าร่วมมีความรู้สึกอย่างไร แสดงออกทางความคิดอย่างไร
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหรือกิจกรรมที่กลุ่มร่วมกันทำเป็นส่วนที่นักศึกษาเขียนถึงมาก
แต่ขาดรายละเอียดที่จำเป็นได้แก่
การอธิบายลักษณะของกิจกรรม และกระบวนการทำกิจกรรม รวมถึงผลที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
ปริญญานิพนธ์ที่เน้นแต่ขั้นตอนของการปฏิบัติการ อาจเป็นเพียงโครงการพัฒนาชุมชนที่มีเป้าหมายของบการพัฒนาเท่านั้น แต่มิใช่การทำวิจัยในระดับปริญญาเอก
ปริญญานิพนธ์ที่เน้นการมีส่วนร่วมแต่ไม่อธิบายคำสำคัญของกรณีส่วนร่วมทั้งทางด้าน บทบาทที่เท่าเทียมกัน ความเป็นเจ้าของความคิดใหม่ การเห็นคุณค่า
ในงานวิจัยอาจมิใช่กลไกของการมีส่วนร่วมที่ผู้วิจัยใช้
แต่อาจเป็นเข้าร่วมเพราะบทบาทหน้าที่บังคับก็เป็นได้ ดังนั้นปริญญานิพนธ์
ควรตอบคำถามทั้งสามด้านได้อย่างครบถ้วนว่า มีการมีส่วนร่วมอย่างไร มีการปฏิบัติใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือไม่
และมีการสร้างความรู้ใหม่หรือไม่
ต้องมีครบทั้ง 3
ประการและมีความสมบูรณ์เพียงพอเท่านั้นจึงจะสมควรแก่การเป็นการศึกษาค้นคว้าที่เป็นผลงานที่แสดงถึงการจบปริญญาเอก
หากแต่สภาพปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยแข่งกันเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก
แต่ขาดคณาจารย์ที่มีประสบการณ์
เพียงพอแก่การควบคุมปริญญานิพนธ์แบบนี้ จึงทำให้ปริญญานิพนธ์ส่วนใหญ่ที่จะใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ขาดความเหมาะสม ไม่สมบูรณ์
และปล่อยให้เกิดผลงานที่จะเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นทำตาม และเมื่อทำตามมาก ๆ
เข้าก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องในที่สุด