วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2556

critical theory กับ งานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์

Critical theory กับงานวิจัยเชิงพฤติกรรมศาสตร์

                  ทฤษฎีทั่วไปกับ ทฤษฎีวิพากษ์ (critical theory)อันดับแรกคงต้องทบทวนความหมายโดยทั่งไปของทฤษฎี ที่หมายถึง การอธิบายปรากฎการณ์ด้วยชุดของตัวแปรหรือความสัมพันธ์ของตัวแปร(ในใจของเราคงนึกถึง ทบ ต้นไม้จริยธรรม) แล้วใครเป็นคนสร้าง ทบ. ก็เป็นนักวิชาการหรือผู้รู้ แต่ critical theory นั้น ทุกคนเป็นผู้สร้างทฤษฎีเป็นได้ทุกคน “All Man Are Intellectual” นึกถึงตัวเรา ที่เราตีความ ทำนาย อธิบาย อยู่ทุกวัน เราสร้างทฤษฎี ล้มเลิก ปรับ และสร้างใหม่ ในชีวิตของเรา
                  ความหมายของ criticality ในคำ critical theory หมายถึงการที่เรา ท้าทาย ขัดแย้ง เห็นต่าง มองมุมต่าง จากสิ่งที่เคยเชื่อหรือกำกับการกระทำของเรา หรืออาจหมายถึง กระบวนการที่เราตระหนักว่า เราเคยยอมรับ ปฎิบัติ อย่างยินยอมโดยไม่คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับอิทธิพลของ คตินิยมที่กำกับอยู่ เช่นในบริษัทเราอาจทำงานหนัก ภายใต้ความเชื่อเพื่อกำไรของผู้ถือหุ้น แต่ไม่เคยถกเถียง ว่าจริงๆแล้วเราควรให้ความสำคัญกับ การร่วมมืออย่างเสอมภาคของคนในที่ทำงาน และผู้ทำงาน ควรมีอำนาจในการควบคุมมากกว่า ที่ทุกคนอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ถือหุ้น เป็นต้น การอ่าน critical theory ในประเด็นต่างๆ จึงเปลี่ยนมุมมองของผู้อ่าน และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการกระทำในอนาคต
                   Critical theory ต่างจาก ทฤษฎีอื่นอย่างไร มีการวิเคราะห์ไว้ว่าแตกต่างใน 5 ประการคือ (1)ใน critical theory จะมีการวิเคราะห์ทางการเมือง เช่น การที่คนเราแลกเปลี่ยนทรัพย์สินของตน ในลักษณะฉันให้สิ่งนี้ เธอให้สิ่งนั้นเป็นการตอบแทน เป็นการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่เรียกว่าคุณค่าจากการแลกเปลี่ยน ที่ถูกให้ความสำคัญ มากกว่าคุณค่าจากประโยชน์การนำไปใช้ ทฤษฎีจะวิเคราะห์ให้เห็นว่าในสังคมแบบหนึ่งๆนั้น การสร้างความสัมพันธ์นั้นเกิดมาจากอะไร นอกจากนี้ (2) critical theory จะเกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อให้คนปลดปล่อยจากภาวะการบีบบังคับ (oppression) ปลดปล่อยให้เกิดเสรีภาพ เกิดความรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมิใช่เพียงแค่รู้ สร้างความรู้ที่มีความเที่ยงตรงในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า consequential validity( ใครได้ประโยชน์ ใครเสียหาย จากการวิจัย) (3) critical theory มิได้แยกวัตถุออกจากจิตใจ แต่ผสานไว้ด้วยกัน เช่น ในการวิจัยเกี่ยวกับคนงานในระบบทุนนิยม( capitalism) ผู้ถูกศึกษา จะสะท้อนความตระหนักรู้ ที่ถูกต้องของตน และความปรารถนา ที่จะมีชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม ประการที่ (4) critical theory เป็นการผสานระหว่าง สังคมศาสตร์กับปรัชญาแนวปฏิบัตินิยม หรือการแสวงหาความรู้ความจริง ที่นำไปสู่สังคมที่ดีขึ้น สังคมในความฝัน สังคมที่ควรเป็น(utopian) ประการที่(5) การ verify(การระบุว่า ทบ. เป็นจริง หรือ เท็จ) ทฤษฎีเป็นสิ่งที่ทำได้ยากต้องรอจนกว่า สิ่งที่คาดหวังใน critical theory เกิดขึ้นจริงในสังคม
                 นักทฤษฎี critical theorists ต้องทำอะไรบ้าง งานที่นักทฤษฎีต้องทำประกอบด้วย การท้าทายคตินิยม การต่อต้านการยอมรับความอยุติธรรม การเปิดเผยอำนาจและอิทธิพล การก้าวข้ามความแปลกแยก การเกิดเสรีภาพของการเรียนรู้ และการมีประชาธิปไตย
โดยที่กล่าวมานี้เป็นการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการศึกษา การเมืองการปกครอง การให้การรักษาพยาบาล การจัดการองค์กร ซึ่งเป็นประเด็นที่นักวิจัยสนใจจะทำวิจัยตามแนว critical theory ได้ทั้งสิ้น
                 นักวิจัยเชิงพฤติกรรมศาสตร์อาจทำวิจัยตามแนว critical theory ได้ในหลายประเด็น เช่น ครอบครัวกับการเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัย การสื่อสารในครอบครัวและการให้คำปรึกษา รูปแบบโครงสร้างของครอบครัว
หรือ การจัดการศึกษาเพื่อคนชายขอบ การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย การจัดการศึกษาเพื่อพหุวัฒนธรรม
                   ตอนต่อไป อาจเป็น วิธิวิทยาสำหรับ critical theory
     

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เมื่อปริญญานิพนธ์ใช้เทคนิคการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม


เมื่อปริญญานิพนธ์ใช้เทคนิคการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

 

ใครต่อใครมักกล่าว ถึง Kurt Lewin ในฐานะผู้คิดค้นและให้ความหมายของคำว่า action research  “a process  whereby one could construct  a social experiment” ตัวอย่างของงานวิจัยในยุคแรกๆ  สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  ที่ เลวิน  ทำได้แก่  การให้ชาวอเมริกันใช้เครื่องในวัวหรือผ้าขี้ริ้ววัว(tripe)ในการปรุงอาหารประจำวัน  โดยมีคำถามวิจัยว่า แม่บ้านชาวอเมริกันจะได้รับการจูงใจให้ใช้เครื่องในวัวในการปรุงอาหารได้หรือไม่ เพียงใด ?  ขั้นตอนในการวิจัยประกอบด้วย  1) การฝึกให้แม่บ้านจำนวนหนึ่งปรุงอาหารโดยใช้เครื่องในวัว และ 2) สำรวจว่าการฝึกมีผลต่อการทำอาหารในครัวเรือนของแม่บ้านแต่ละคนอย่างไร

นั่นเกิดขึ้นมานานกว่า 60 ปีแล้ว ปัจจุบันงานวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมีหลายรูปแบบ แต่มีลักษณะร่วมกันคือ  ใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่เกิดจากความสนใจ  เต็มใจ และร่วมกันปฏิบัติการของคนที่อยู่ในพื้นที่หรือเป็นผู้ปฏิบัติในสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ โดยมีนักวิจัยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการกระบวนการกลุ่ม(moderator)  งานวิจัยนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ทำงานพัฒนาชนบท  นักพัฒนาชุมชน และนักวิจัยองค์การ  แต่เมื่อทำเป็นปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนิสิตนักศึกษา อาจมีความไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลหลายประการ

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกหมายถึงอะไร  ปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนักศึกษาควรมุ่งเน้นการสร้างความรู้ใหม่  ที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เริ่มต้นจาก  การสังเกต ® สังเคราะห์ ® ตั้งสมมติฐาน ® ทดสอบสมมติฐาน ® สังเกตเพิ่มเติม ® วิเคราะห์สังเคราะห์ ® ปรับสมมติฐาน ® จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือ  ในกรณีที่เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ

หรือในการวิจัยเชิงปริมาณ การสร้างความรู้ใหม่เกิดจากกระบวนการดังนี้  การสร้างกรอบความคิดของความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปรที่ได้มาจากการประมวลเอกสารและงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว ® เขียนสมมติฐาน ® ออกแบบการวิจัยเพื่อการทดสอบสมมติฐาน ® เก็บข้อมูล ® ทดสอบความน่าเชื่อถือของสมมติฐาน ® คงไว้หรือปรับทฤษฎี  ลักษณะของการสร้างความรู้ของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมน่าจะเป็นกระบวนการแบบการวิจัยเชิงคุณภาพมากกว่าการวิจัยเชิงปริมาณ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมแก่การเป็นปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ต้องประกอบด้วย 3  ส่วน  ที่เมื่อขาดส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจะไม่เรียกว่าเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่สมบูรณ์  ส่วนแรก คือ  วิจัย  หมายความว่าต้องมีการสร้างความรู้ใหม่  ส่วนที่สอง  เรียกว่า การมีส่วนร่วม  หมายความว่า  นักวิจัยทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก (มืออาชีพ) และผู้ปฏิบัติงาน  หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในท้องถิ่น  องค์กร  ชุมชน  โดยที่บุคคลเหล่านี้ร่วมกันคิดแผนงาน  ดำเนินงาน  สร้างความรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลตามที่ต้องการ  และส่วนที่สาม  คือ การปฏิบัติการ  คือ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนกลุ่ม  ชุมชน  องค์การ  จากจุดเริ่มต้นไปสู่เป้าหมาย  โดยใช้แนวทางที่เน้นการจัดการตนเอง  ของกลุ่มหรือชุมชน

งานปริญญานิพนธ์ปริญญาเอกหลายเรื่องที่ใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กล่าวอ้างว่า เกิดองค์ความรู้ หรือเกิดความรู้ใหม่  แต่ไม่เขียนอธิบายให้เห็นว่าอะไรคือความรู้ใหม่  เพราะความรู้ใหม่น่าจะเป็นการค้นพบที่แตกต่าง หรือเพิ่มเติมไปจากองค์ความรู้ที่ค้นพบเดิม หรือคำอธิบายเดิม ๆ  ตัวอย่างของการเกิดความรู้ใหม่ เช่น  การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเรื่องหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนให้สามารถสร้างรายได้และดูแลกิจการของชุมชนได้ด้วยตนเอง  นักวิจัยพบว่า โครงสร้างของสังคมมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากความเข้าใจเดิม ๆ เกี่ยวกับโครงสร้างของสังคมชนบท  โดยเขียนอธิบาย concept และความเชื่อมโยงของ concept ไว้อย่างชัดเจน  แตกต่างจากปริญญานิพนธ์บางเรื่องที่เน้นให้เห็นกระบวนการของการทำงานพัฒนามากจนไม่เห็นสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่

นอกจากนี้ยังต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงกระบวนการมีส่วนร่วมที่มิใช่แค่การเข้าร่วมเท่านั้น  การมีส่วนร่วมต้องแสดงถึง การมีส่วนร่วมทางการคิด  การลงมือปฏิบัติ  และการสะท้อนการปฏิบัติ  ร่วมทั้งการวางแผนและการปรับแผนที่มีความเท่าเทียมระหว่างผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย  งานปริญญานิพนธ์หลายเรื่องกล่าวถึงการมีส่วนร่วมในเรื่องของกิจกรรม เช่น มีการจัดกิจกรรมโดยใช้เทคนิคของการมีส่วนร่วมต่าง ๆ เช่น  PRA  AIC  แต่ไม่แสดงว่าผู้เข้าร่วมมีความรู้สึกอย่างไร  แสดงออกทางความคิดอย่างไร

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหรือกิจกรรมที่กลุ่มร่วมกันทำเป็นส่วนที่นักศึกษาเขียนถึงมาก แต่ขาดรายละเอียดที่จำเป็นได้แก่  การอธิบายลักษณะของกิจกรรม และกระบวนการทำกิจกรรม  รวมถึงผลที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

ปริญญานิพนธ์ที่เน้นแต่ขั้นตอนของการปฏิบัติการ  อาจเป็นเพียงโครงการพัฒนาชุมชนที่มีเป้าหมายของบการพัฒนาเท่านั้น  แต่มิใช่การทำวิจัยในระดับปริญญาเอก  ปริญญานิพนธ์ที่เน้นการมีส่วนร่วมแต่ไม่อธิบายคำสำคัญของกรณีส่วนร่วมทั้งทางด้าน  บทบาทที่เท่าเทียมกัน  ความเป็นเจ้าของความคิดใหม่  การเห็นคุณค่า  ในงานวิจัยอาจมิใช่กลไกของการมีส่วนร่วมที่ผู้วิจัยใช้  แต่อาจเป็นเข้าร่วมเพราะบทบาทหน้าที่บังคับก็เป็นได้  ดังนั้นปริญญานิพนธ์ ควรตอบคำถามทั้งสามด้านได้อย่างครบถ้วนว่า มีการมีส่วนร่วมอย่างไร  มีการปฏิบัติใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ และมีการสร้างความรู้ใหม่หรือไม่  ต้องมีครบทั้ง 3 ประการและมีความสมบูรณ์เพียงพอเท่านั้นจึงจะสมควรแก่การเป็นการศึกษาค้นคว้าที่เป็นผลงานที่แสดงถึงการจบปริญญาเอก

หากแต่สภาพปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยแข่งกันเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก แต่ขาดคณาจารย์ที่มีประสบการณ์  เพียงพอแก่การควบคุมปริญญานิพนธ์แบบนี้ จึงทำให้ปริญญานิพนธ์ส่วนใหญ่ที่จะใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  ขาดความเหมาะสม  ไม่สมบูรณ์  และปล่อยให้เกิดผลงานที่จะเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นทำตาม    และเมื่อทำตามมาก ๆ เข้าก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องในที่สุด

 

การพัฒนาทักษะของนักวิจัยในมหาวิทยาลัย(2)


การพัฒนาทักษะของนักวิจัยในมหาวิทยาลัย(2)

ผู้สอนระเบียบวิธีวิจัยในมหาวิทยาลัยยังคงสอนแบบเน้นความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนของการวิจัย และให้ทดลองเขียนเค้าโครงการวิจัยตามความสนใจของผู้เรียน  เพื่อให้นำความรู้ในขั้นตอนต่าง ๆ มาประสานกันได้อย่างกลมกลืน  รูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้เกิดขึ้นและยังคงอยู่มานานแล้ว  การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบอื่นๆมาใช้เป็นบ้าง  จะทำให้เกิดทางเลือกในการพัฒนาการเรียนการสอนมากขึ้น

ผู้รู้และนักวิจัยอาชีพหลายคนมีความเห็นว่า  เราควรเปลี่ยนวิธีการสอนที่เน้นความรู้  มาเป็นการเน้นการสร้างทักษะนักวิจัยให้มากขึ้น  กิจกรรมที่มีผู้ใช้มากคือ การให้ผู้เรียนทำโครงการวิจัยร่วมกัน

การใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามของโครงการวิจัยใหญ่ ๆ ที่มีอยู่เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจหลักการหรือแนวคิดทางจิตวิทยาหรือสังคมวิทยา รวมทั้งตั้งคำถามการวิจัย  การฝึกเป็นที่ปรึกษา ฝึกให้คำปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงกับโครงการวิจัย  การนำเสนอผลการวิจัยในงานสัมมนาและเป็นผู้จัดงานซิมโปเซียม  ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการฝึกทักษะนักวิจัยทั้งสิ้น

สิ่งสำคัญในการออกแบบการเรียนการสอนในหนึ่งเทอม ให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทักษะ คือ 1) ต้องระบุขอบเขตของความสามารถสำคัญในสาขาวิชาชีพว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น  นักวิจัยทางการศึกษา  ต้องมีทักษะของการวิจัยด้านการวิจัยเชิงปฏิบัติการสูง  ในขณะที่นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ต้องมีทักษะกระบวนการวิจัยเชิงทดลองในห้องปฏิบัติการสูง เป็นต้น  2) ต้องกำหนดบริบทของงานวิจัยที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่กล่าวถึงในข้อ 1 และบริบทต้องพอเพียงต่อการพัฒนาทักษะอย่างครบถ้วนภายใต้เวลาอันจำกัด  3)  ต้องเชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่เป็นประสบการณ์ในการเรียนการสอนกับสิ่งที่อยู่ในหนังสืออย่างต่อเนื่อง  4) ต้องวางแผนให้ผู้เรียนเกิดความประทับใจและภาคภูมิใจในผลงาน เมื่อทำงานเสร็จ  และ 5) ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัยไม่ว่าจะเป็น กลุ่มตัวอย่างหรือผู้ใช้งานวิจัย

ตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นผลของการทดลองสอนจริงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  ผู้สอนแบ่งเนื้อหาของวิชาวิธีการวิจัยออกเป็น 5 ด้าน  ประกอบด้วย  1) งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์เบื้องต้น  2) การออกแบบการวิจัยและการวัดตัวแปร  3) การรวบรวมข้อมูล  4) การวิเคราะห์ข้อมูล และ 5) การตีความและการนำเสนอข้อมูล  การเรียนการสอนในแต่ละด้านกินเวลาประมาณ 3 4 อาทิตย์  แต่ละครั้งจะมีการมอบหมายงานโดยที่งานแต่ละชิ้นจะนำไปสู่งานชิ้นต่อ ๆ ไป  จนกระทั่งเสร็จงานวิจัย

งานที่มอบหมายให้ผู้เรียนทำประกอบด้วย  1) การวิเคราะห์การรายงานข่าวเกี่ยวกับการสำรวจเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือพิมพ์  ทักษะที่พัฒนาในงานชิ้นนี้ได้แก่  ทักษะการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์  โดยการเปรียบเทียบ ระหว่างการวิจัยเชิงสำรวจที่มีระเบียบระบบ กับการสำรวจทั่วไปที่ใช้ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร  เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับความรู้  เรื่องการสุ่มตัวอย่าง  การสร้างข้อคำถาม  ความเที่ยงตรง และความเชื่อมั่นของเครื่องมือวัด  2) การวิเคราะห์รายงานการวิจัยในวารสารทางวิชาการที่ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงสำรวจ  ผู้เรียนจะพัฒนาความสามารถด้านการเขียนสมมติฐาน  รู้จัก ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม  วิธีการที่หลากหลายในการเก็บข้อมูล  ขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม  นอกจากนี้ยังพัฒนาทักษะการวิพากษ์งานวิจัย  ได้พัฒนาความสามารถในการเขียนอ้างอิง  การเขียนเกี่ยวกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  3)เขียนเค้าโครงการวิจัย  งานชิ้นนี้ผู้เรียนจะได้ฝึกการเขียนสมมติฐานการสร้างนิยามสำหรับตัวแปร  การประมวลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  และเชื่อมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้กลมกลืน  4) การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์  ผู้เรียนได้ฝึกทักษะด้านการสุ่มตัวอย่าง  การสร้างข้อคำถามและการสัมภาษณ์  5) การสร้างรหัสสำหรับจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์  พัฒนาทักษะด้านการจัดเตรียมตัวแปรและการจัดการกับข้อมูลกรณีที่ผู้ตอบบางคนไม่ใช้ข้อมูลที่ครบถ้วน  6) การฝึกใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล  พัฒนาทักษะการใช้คอมพิวเตอร์  การใช้สถิติเชิงพรรณนา และการใช้สถิติเชิงอ้างอิงแบบต่าง ๆ  การตรวจสอบข้อตกลงเบื้องต้น  การสร้างแฟ้มข้อมูลที่จัดการกับข้อมูลรูปแบบที่ไม่เหมาะสมแล้ว  7) การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยการพูด  การโต้ตอบกับผู้ฟังที่มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของความสนใจ และความรู้  8) การเขียนผลการวิจัย  พัฒนาทักษะการเขียนเชิงวิชาการ

การมอบหมายงานแต่ละชิ้น ต้องระบุเป็นลายลักษณ์อักษร (เฉพาะผู้เรียนมักลืมหลังจากออกจากห้องเรียน)  โดยชี้แจงจุดประสงค์ของงานชิ้นนั้น  ประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับ และความเกี่ยวข้องกับงานชิ้นที่ผ่านมา  ระบุแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อการทำงานให้เสร็จและมีคุณภาพ  ตั้งคำถามที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดตามและหาข้อมูลเพิ่มเพื่อตอบคำถาม และสุดท้ายคือ ระบุวัน เวลา ของการส่งงาน  รวมทั้งคะแนนของงาน  จะเห็นว่าการมอบหมายงานเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเรียนรู้ของผู้เรียน  ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ  เพราะผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของผู้เรียน  ซึ่งน่าจะหมายถึงวางแผนจัดหา  อุปกรณ์  สร้างกิจกรรม  ให้คำชี้นำ  ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่ผู้สอนหลายคน กลับถือโอกาสนี้ทำเพียงให้งานแล้วให้ผู้เรียนไปค้นหาทางและอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนรู้เรื่องที่ผู้เรียนยังไม่คุ้นเคย แต่ขาดคนชี้ทาง อาจทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ หรือขาดกำลังใจในการเรียนได้

นักวิจัยควรได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรีเป็นต้นไป  สาขาวิชาที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการมักมีเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอน คือ  ให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในสาขาวิชาของตน  ข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาวิชาการกล่าวว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ หลักสูตรต่าง ๆ ควรจัดการเรียนการสอน ควรสร้างประสบการณ์เชิงรุกแก่ผู้เรียนมากกว่าให้เป็นผู้รับความรู้อย่างเดียว  ควรสร้างประสบการณ์ให้เกิดการตั้งคำถามและหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามนั้น ๆ  ควรจัดกิจกรรมที่ผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน  และควรสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับการประยุกต์ความรู้ในสาขากับนโยบายของประเทศ  การสอนโดยใช้งานวิจัยเป็นบริบท นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในสาขาวิชาของตนได้เป็นอย่างดี

 

การพัฒนาทักษะนักวิจัยในมหาวิทยาลัย (1)


การพัฒนาทักษะนักวิจัยในมหาวิทยาลัย (1)

ทักษะเชิงวิชาชีพมักประกอบด้วยความรู้ ความสามารถและจิตลักษณะที่จะนำไปสู่ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นๆ ความรู้ของนักวิจัยประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน ได้แก่การกำหนดปัญหาการวิจัย การออกแบบการวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และการสรุปผลการวิจัย ความสามารถของนักวิจัย ประกอบด้วยความสามารถด้านการคิดหลายประการ ได้แก่ความคิดหลากหลาย คิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดเชิงเหตุ-ผล คิดวิจารณญาณ คิดเชิงวิพากษ์ และจิตลักษณะ ประกอบด้วยความชอบ ความมุ่งมั่นจดจ่อ กัดติด จนบรรลุคำตอบของการวิจัย       และ ความซื่อตรงและรับผิดชอบต่องานของตน

คนทุกคนมิได้เกิดมาพร้อมกับความรู้ ความสามารถ และลักษณะเหล่านี้ติดตัวมาด้วย แต่ต้องมาค้นหา แล้วพัฒนาอย่างถูกวิธีจึงจะสามารถบรรลุความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ ความรู้ความสามารถของการเป็นนักวิจัย บางส่วนเรียนรู้ได้จากการอ่าน  การปฏิบัติ และเขียนเพื่อถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้ หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่อ่าน ยิ่งได้ทำในสิ่งเหล่านี้มากเท่าใด ก็จะเกิดเป็นความรู้ ความสามารถที่ลึกซึ้งขึ้นตามระยะเวลา

การเรียนในระดับอุดมศึกษา จะมีวิชาวิจัยที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำในสิ่งเหล่านี้ แต่จุดอ่อน คือ ผู้เรียนบางคนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรม จึงทำงานแบบคัดลอกมาส่งซ้ำๆกัน อีกทั้งผู้สอนไม่มีโอกาสได้สะท้อนคุณภาพและความลึกซึ้งของผลงานให้กับผู้เรียน จึงทำให้ผลจากการเรียนรู้ไม่บรรลุเป้าหมาย จนกระทั่งอาจารย์หลายคนบ่นว่า นักเรียนไม่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความคิดและสื่อสารได้อย่างเหมาะสม ทำให้ต้องดูแลกันอย่างมากทีเดียว

การฝึกทักษะการอ่านสำหรับงานวิจัยนั้น มิใช่เพียงอ่านจับใจความ ซึ่งก็ยากอยู่แล้วสำหรับบางคนที่สมาธิไม่ดี แต่ต้องอ่านเชิงวิเคราะห์ และตั้งคำถามและข้อถกเถียงกันตลอดเวลา เช่น มีเงื่อนไขภายในงานวิจัยใด ที่มีผลต่อข้อสรุปที่น่าเชื่อถือของงานวิจัย  เช่น ผลสรุปจากงานวิจัยกล่าวว่า การเรียนในโรงเรียนเอกชน มีผลสัมฤทธิ์ของการเรียนวิชาภาษาอังกฤษสูงกว่าการเรียนในโรงเรียนของรัฐ ดังนั้นการเรียนในโรงเรียนเอกชนมีผลทำให้ภาษาอังกฤษดีกว่าเป็นการสรุปที่ขาดความน่าเชื่อเพราะตัวอย่างที่ใช้มาจากกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนเอกชนและนักเรียนในโรงเรียนของรัฐ ทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนในโรงเรียน เพราะผู้ปกครองอาจมีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมแตกต่างกัน มีค่านิยมทางด้านการศึกษาแตกต่างกันและนักเรียนอาจมีแรงจูงใจทางด้านการเรียนแตกต่างกันตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนในโรงเรียน

การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะด้านการอ่าน ทำโดยให้ผู้เรียนอ่านงานวิจัยในลักษณะต่างๆตั้งแต่ งานวิจัยเชิงสำรวจ งานวิจัยเชิงประเมิน และงานวิจัยเชิงทดลอง เป็นต้น  แล้วจัดให้มีการสนทนากับผู้รู้ ในประเด็นต่างๆเช่น 1)ข้อสรุปจากงานวิจัยมีข้อจำกัดอะไร ที่ผู้วิจัยมิได้กล่าวถึงในขอบเขตของงานวิจัย ข้อจำกัดนี้ส่งผลต่อข้อสรุปอย่างไร   2)เราจะมีวิธีการอะไรที่จะทดสอบว่าผลการวิจัยนี้อาจเป็นตรงกันข้าม 3)เราจะแก้ไขปัญหาก็เป็นข้อจำกัดของงานวิจัยนี้อย่างไร

การฝึกสังเคราะห์สิ่งที่อ่าน เป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักวิจัย เพราะก่อนและระหว่างวิจัยต้องอ่านงานวิจัย และเอกสารอื่นอีกมากมาย ถ้าสังเคราะห์ไม่เป็นจะไม่สามารถสร้างประเด็นที่มีฐานมาจากความรู้เดิม การสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยจะทำให้นักวิจัยสามารถสร้างกรอบแนวคิดที่จะต่อยอดและสร้างสรรค์ได้ การสังเคราะห์ทำได้หลายวิธี อาจเริ่มจากการกำหนดกรอบของการสังเคราะห์ หรือไม่กำหนดกรอบของการสังเคราะห์ก่อน หรือผสมผสานกันก็ได้ เช่น ประเด็นว่าจะพัฒนาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้มีทักษะในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างไรอาจกำหนดกรอบของการสังเคราะห์ว่า การฝึกอบรม แหล่งเรียนรู้ระหว่างการทำงาน แรงจูงใจ ภูมิหลังก่อนเป็นอาจารย์ และวัฒนธรรมขององค์กร ส่งผลต่อทักษะในการทำวิจัยเท่าใดและอย่างไร  หรือกำหนดกรอบหลังจากอ่านงานทุกเรื่องแล้วก็ได้

การฝึกให้ผู้เรียนสามารถสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยได้ ต้องเริ่มจากประเด็นแคบๆก่อน เช่น เลือกงานวิจัยที่มีตัวแปรต้นและตัวแปรตาม เหมือนกัน  5 เรื่องแล้วให้สังเคราะห์เพื่อให้หาข้อสรุปว่า

1)      งานวิจัยทั้งหมดมีผลเหมือนกันอย่างไร และข้อสรุปมีบริบทแบบใด

2)      งานวิจัยทั้งหมดมีผลแตกต่างหรือไม่ อะไรเป็นสาเหตุของความแตกต่าง

3)      คำถามใดที่งานวิจัยทั้งหมดยังไม่ตอบ หรือตอบแล้วแต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ

4)      เราควรทำงานในเรื่องวิจัยใดต่อไป เพราะเหตุผลใด

 

ปัญหาการทำวิจัยของผู้เรียน ในมหาวิทยาลัยคือ เราเน้นการอ่านเชิงวิเคราะห์น้อยไป ขาดการสังเคราะห์ และตั้งสมมติฐานเร็วเกินไป

เมื่อฝึกการอ่านแล้ว อันดับต่อไปต้องฝึกทำวิจัยโดยมีครูอาจารย์ เป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ในขั้นตอนสำคัญๆเริ่มจากขั้นการกำหนดประเด็นการวิจัย และสมมติฐาน การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์และการสรุปผลการวิจัย การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะการวิจัย บทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงนี้ต้องเน้นความเสมอภาค การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หมายความว่าทั้งสองฝ่ายต้องเท่าเทียมกันบนฐานของเหตุและผล มิใช่ว่าอาจารย์ต้องเป็นฝ่ายบอกเสมอว่าต้องทำอะไรหรือต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หมายถึงทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมตัวและหาข้อมูล ข่าวสารต่างๆมาแลกเปลี่ยนกันและกัน การจะทำดังนี้ได้ทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักในบทบาทของตนเอง สมัครใจและเห็นประโยชน์ร่วมกัน    หลายต่อหลายครั้งที่ผู้สอนจะพบว่าตนเองก็ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นพร้อมๆผู้เรียน

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง หลายสาขา เน้นการผลิตเพื่อการหารายได้และไม่สามารถบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้สอนไม่มีเวลาให้กับผู้เรียนมากพอที่จะช่วยพัฒนาทักษะของผู้เรียนอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนบางคนมุ่งหวังใบปริญญามากกว่าต้องการพัฒนาตนเอง

การเขียนเป็นทักษะที่ต้องพัฒนาอย่างมาก ในปัจจุบันที่นักเรียน นักศึกษา มีโอกาสฝึกเขียนน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นการตัดและแปะ การสอบแบบปรนัย การเขียนแบบไม่เป็นทางการเพื่อการสื่อสารที่ฉับไวบนมือถือและอินเตอร์เน็ต การเขียนที่ดีนั้นผู้เขียนต้องคำนึงถึงผู้อ่านเป็นสำคัญ ขณะที่เขียนต้องสมมติตัวเองเป็นผู้อ่านด้วยว่า เขาจะชอบไหม ผู้อ่านเป็นคนแบบไหน เขียนแบบใดจึงจะเหมาะสม การเขียนต้องเขียนจากสิ่งที่เรารู้อย่างชัดเจนและใช้ประโยคที่ตรงประเด็น ไม่ออกนอกประเด็น ไม่เน้นความไพเราะมากกว่าความแจ่มแจ้ง

การฝึกเขียนแบบนักวิจัยนั้น  ต้องสามารถเขียนเชิงพรรณนา เพื่ออธิบายสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ ข้อเท็จจริง เขียนแบบถกเถียงในประเด็นที่ต้องการให้ผู้อ่านคิดในเชิงเห็นด้วย สนับสนุนหรือขัดแย้ง เขียนแบบสรุปจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ โดยทั้งนี้ต้องมีความสามารถในการสร้างกรอบความคิดที่จะเขียน สร้างหัวข้อย่อยหัวข้อรองและใช้รูปแบบการเขียนเชิงวิชาการได้อย่างถูกต้อง

ทักษะเกิดจากการฝึกหลายๆครั้ง จนเกิดความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆการพัฒนาทักษะนักวิจัยก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เทอมแรกจนถึงเทอมสุดท้าย มิใช่มาพัฒนากันตอนทำปริญญานิพนธ์เท่านั้น และบางครั้งเราจะพบว่าบัณฑิตบางคนไม่เคยได้รับการฝึกฝนทักษะนักวิจัยเลย แม้จะได้รับปริญญาไปครอบครองแล้วก็ตาม

 

จุดอ่อนของการอภิปรายผลการวิจัย


จุดอ่อนของการอภิปรายผลการวิจัย

หลายต่อหลายครั้งเมื่ออ่านการอภิปรายผลการวิจัยของนักศึกษาที่ทำปริญญานิพนธ์ แล้วทำให้ดิฉันคิดว่า นักศึกษาคงจะเกิดความสับสนเป็นแน่แท้ว่า จะเขียนอภิปรายผลการวิจัยอย่างไรดี  จึงเป็นการอภิปรายที่มาจากการคิดวิเคราะห์ของเขาอย่างแท้จริง

โดยทั่วไปนักศึกษาจะได้รับคำแนะนำว่า เขียนโดยเรียงตามลำดับของวัตถุประสงค์ และสมมติฐานของการวิจัย  โดยกล่าวถึงความเหมือนและความแตกต่างของข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ทำ  เปรียบเทียบกับงานวิจัยอื่นในอดีตว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร  และสรุปอ้างอิงไปยังทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้นนักศึกษาก็จะเขียนโดยกล่าวถึงผลงานวิจัยของตนเองก่อน  แล้วก็ใช้คำพูดว่า ซึ่งคล้ายคลึง หรือสอดคล้อง กับผลงานวิจัยของ นาย ก. ที่พบว่า....... โดยกล่าวแบบลอย ๆ ขาดการวิเคราะห์วิจารณ์ อย่างลึกซึ้ง  หรืออาจกล่าวถึงทฤษฏีเพื่อยืนยันข้อค้นพบ โดยไม่ให้ข้อคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ถึงความเหมือนหรือความแตกต่างที่สังเกตพบในการนำทฤษฏีไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างของงานที่นักศึกษาทำเสร็จแล้ว

ข้อผิดพลาดของการอภิปรายผลการวิจัยอาจกล่าวเป็นประเด็นได้ดังนี้                                        

ประเด็นแรก เรียกว่า การไม่คำนึงถึงความเหมือน ความคล้าย หรือความแตกต่างของงานวิจัยที่อ้างถึงกับงานวิจัยที่นักศึกษาทำ หมายความว่า เมื่อนักศึกษานำงานวิจัยของผู้อื่นที่ทำเสร็จแล้วมาอ้างถึง ในเชิงเป็นเหตุผลสนับสนุน หรือขัดแย้งกับผลงานวิจัยของตนเอง แต่ขาดข้อมูลรายละเอียด หรือขาดการวิเคราะห์ในประเด็นของนิยามของ ตัวแปรตาม ตัวแปรต้น  กลุ่มตัวอย่างและการวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น

การอภิปรายผลของนักศึกษาท่านหนึ่งเขียนว่า  งานวิจัยเรื่องนี้พบว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม เป็นตัวทำนายที่สำคัญที่สุดของพฤติกรรมการทำงานอย่างมีจริยธรรมของกลุ่มข้าราชการตำรวจ สอดคล้องกับผลการวิจัยของ นาย ก. ที่ศึกษาพฤติกรรมการของนักเรียนมัธยมปลายที่พบว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม  ทัศนคติต่องาน  สามารถทำนายพฤติกรรมรับผิดชอบต่อการเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่จุด .05  และมีอำนาจในการทำนาย 35 เปอร์เซ็นต์

การเขียนอภิปรายผลข้างต้นมีความบกพร่องหลายประการคือ  1) ขาดรายละเอียดของตัวแปรอิสระที่ใช้ในการทำนายพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการเรียน   ในงานวิจัยที่นาย ก. ทำ  เพราะถ้าตัวแปรอิสระของนาย ก. ไม่เหมือนกับตัวแปรอิสระของนักศึกษาท่านนี้  ผลการวิจัยอาจไม่สอดคล้องก็ได้  2) งานวิจัยเล่านี้ศึกษากับข้าราชการตำรวจ  แต่งานวิจัยของนาย ก. ศึกษานักเรียน  ผลของงานวิจัยทั้งสองนี้อาจไม่สอดคล้องก็ได้  3) งานวิจัยเรื่องนี้ พบว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม เป็นตัวทำนายที่สำคัญที่สุด  แต่งานวิจัยของนาย ก. กล่าวว่า เหตุผลเชิงจริยธรรม และทัศนคติต่องาน สามารถทำนายพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีอำนาจในการทำนาย 35 เปอร์เซ็นต์  ผลงานวิจัยทั้งสองเรื่องนี้กำลังกล่าวถึงผลจากการวิเคราะห์ในมุมที่แตกต่างกัน  ผลงานวิจัยทั้งสองเรื่องนี้อาจไม่สอดคล้องกันก็ได้

ที่เกิดเหตุดังนี้เพราะนักศึกษาไม่ทำการวิเคราะห์งานวิจัยทั้งสองเรื่องอย่างละเอียดว่างานแต่ละเรื่องใช้ตัวแปรตามเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรการเหมือนอาจเหมือนกันโดยการใช้นิยามปฏิบัติการเดียวกัน หรือ ใช้ทฤษฏีเดียวกันก็ได้ กลุ่มตัวอย่างเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร  ตัวแปรต้นมีอะไรบ้าง  และการวิเคราะห์ใช้สถิติอะไร  ผลที่ได้มีรายละเอียดอย่างไร  ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วจึงเขียนสรุปที่ละประเด็นให้เห็นทั้งความเหมือนและความแตกต่าง แล้วจึงสรุปว่าสอดคล้องหรือแตกต่างอย่างไร จะเหมาะสมกว่าการเขียนคลุมแบบลอยๆว่าสอดคล้อง

ผู้เขียนที่อภิปรายผลการวิจัยโดยปราศจากรายละเอียดของงานวิจัย ที่ต้องวิเคราะห์แล้ว จึงเปรียบเสมือน การกล่าวอ้างงานวิจัยของผู้อื่นอย่างลอย ๆ ขาดประเด็นที่จะนำมาสู่การถกเถียงทางวิชาการ  ที่จะเกิดการตกผลึกแห่งความรู้

ประเด็นที่สอง อยากจะเรียกว่าการละเลย ผลที่ไม่มีนัยสำคัญที่มีความสำคัญ ที่ควรค่าแก่การอภิปรายเป็นอย่างยิ่ง  ที่กล่าวเช่นนี้เพราะนักศึกษาหลายคนไม่กล่าวถึงผลของการวิจัยที่ไม่มีนัยสำคัญเลย  ผลของการวิจัยที่เข้ากับประเด็นนี้มีหลายรูปแบบได้แก่  1) พบว่าผลมีนัยสำคัญในกลุ่มรวม และมีนัยสำคัญในกลุ่มย่อยบางกลุ่ม  ผู้วิจัยจะให้ความสนใจในการอภิปรายสนับสนุนข้อค้นพบที่มีนัยสำคัญ โดยลืมไปว่าข้อค้นพบที่ไม่มีนัยสำคัญก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน   ทั้งนี้เพราะ การที่เราพบว่าข้อค้นพบไม่เป็นไปตามทฤษฎีเดิม  แปลว่าอาจมีประเด็นใหม่ ๆ ที่ควรแก่การศึกษาในงานวิจัยต่อไปในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่พบผลสอดคล้องกับทฤษฎีหรือผลงานวิจัยในอดีต  ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าทฤษฎีอาจไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างครอบคลุมในกลุ่มบางกลุ่ม หรือกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยที่ผู้วิจัยศึกษาอาจมีขนาดเล็กเกินไป หรืออาจมีตัวแปรอื่นบางตัวที่เป็นลักษณะที่เฉพาะของกลุ่มตัวอย่าง ที่ควรนำมาร่วมศึกษาในงานวิจัยเรื่องต่อไป  2) พบว่าตัวแปรบางตัวไม่มีนัยสำคัญ หรือลดความสำคัญในกลุ่มย่อยบางกลุ่ม ในขณะที่กลุ่มใหญ่มีความสำคัญ  อาจแสดงถึงข้อถกเถียงว่า จะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตัวนั้นกับลักษณะบางประการของกลุ่มตัวอย่างนั้นก็อาจเป็นได้  จึงควรค่าแก่การอภิปรายถึงเพื่อประโยชน์ในการทำวิจัยที่ลึกซึ้งในอนาคต

ประเด็นที่ 3  เรียกว่าไม่แยกแยะการมีนัยสำคัญที่ขาดความสำคัญในทางปฎิบัติ จากผลที่มีทั้งนัยสำคัญและมีความสำคัญในการปฎิบัติ ได้แก่ การพบผลที่มีนัยสำคัญทางสถิติแต่มีขนาดอิทธิพลหรือความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรที่ต่ำเกินไป เช่น  ผลการวิจัยพบว่าเหตุผลเชิงจริยธรรมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการทำงานอย่างมีจริยธรรมของข้าราชการตำรวจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่า r = .02  ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเหตุผลเชิงจริยธรรม ในกรณีนี้ผู้วิจัยควรอภิปรายถึงความไม่มีนัยสำคัญเชิงการใช้ผลการวิจัยในทางปฏิบัติ เพราะค่า r มีค่าเล็กเกินไป  ผลเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าไม่สนับสนุนการใช้ประโยชน์ของทฤษฎีก็เป็นไปได้

การอภิปรายผลการวิจัย แม้จะเป็นกิจกรรมเกือบสุดท้ายของการเขียนรายงานผลการวิจัย  แต่ก็มีความสำคัญมากในเชิงวิชาการ และการนำงานวิจัยไปใช้เพื่อการปฏิบัติ  นักศึกษาหลายคนบ่นว่าเขียนยาก ก็ต้องยอมรับว่ายากจริง แต่เพื่อความสมบูรณ์ของกระบวนการคิดและการเขียนที่ต้องเข้าใจงานของตนเองและงานของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ก็เป็นกิจกรรมที่ควรค่าแก่ความพยายาม มิใช่หรือ

อย่าทำร้ายงานวิจัยเชิงปริมาณ


อย่าทำร้ายงานวิจัยเชิงปริมาณ         

คุณเคยคิดบ้างไหมว่า งานวิจัยทางสังคมศาสตร์หรือพฤติกรรมศาสตร์อาจขาดความน่าเชื่อถือ เพราะนักวิจัยขาดความรับผิดชอบในกระบวนการทำวิจัย คือ ขาดความรอบคอบ ในการออกแบบการวิจัยซึ่งเป็น

ส่วนประกอบสำคัญที่จะให้ตอบคำถามวิจัยได้อย่างมีข้อโต้แย้งน้อยสุด                                                  

จะออกแบบการวิจัยอย่างไร  เพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลของตัวแปรภายนอกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ตัวอย่างเช่น  คำถามของการวิจัยว่า การเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษา  จะมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหรือไม่   ในโจทย์วิจัยนี้มีตัวแปร 2 ตัว คือ ตัวแปรอธิบาย ได้แก่ การเรียนการสอนตามแนวปฏิรูป  และตัวแปรตาม คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  ในกรณีนี้ไม่ว่านักวิจัยจะทำการวิจัยเชิงทดลองหรืองานวิจัยเชิงสัมพันธ์จะมีตัวแปรมากมาย  ได้แก่  เพศ  อายุ  IQ  ความถนัด  เจตคติ ที่เป็นลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง หรือประเภทของครู ลักษณะของโรงเรียนซึ่งเป็นตัวแปรเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของกลุ่มตัวอย่าง ที่เรียกว่าตัวแปรภายนอก ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่มิใช่ตัวแปรที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตามแต่อาจส่งผลต่อตัวแปรตาม ถ้างานวิจัยทั้งหลายปล่อยให้ตัวแปรภายนอกเหล่านี้เป็นอิสระ  การทดสอบทางสถิติ  และผลของการวิจัยอาจเป็นเพียงภาพลวงของปรากฏการณ์จริง

ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงทดลองนักวิจัยควบคุมตัวแปรภายนอกโดยการเลือกกลุ่มที่มีความแตกต่างกันในตัวแปร  เพศ  อายุ  หรือ เลือกเฉพาะกลุ่มที่มีลักษณะเพียงด้านเดียว  หรืออาจควบคุมโดยใช้เทคนิคของการประมาณค่า เช่น การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม  ตัวแปรที่เหลือก็ใช้การสุ่มเข้ากลุ่มเป็นการขจัดอิทธิพลของการเป็นตัวแปรที่ไม่ได้ควบคุม มิให้ปนเปื้อนหรือแทรกซ้อนกับตัวแปรอธิบาย ดังนั้นการสุ่มเข้ากลุ่มจึงเป็นเทคนิคของการควบคุมตัวแปรภายนอกแบบหนึ่ง

ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงความสัมพันธ์  นักวิจัยจะต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวแปรภายนอกเหล่านี้ให้มากที่สุด  หรือเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน  แล้วใช้เทคนิคของการประมาณค่าเพื่อขจัดอิทธิพลของตัวแปรภายนอก ตัวแปรที่เหลือปล่อยให้เป็นความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม ซึ่งผู้วิจัยไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการปนเปื้อนของตัวแปรภายนอกกับตัวแปรอธิบายได้เลยถ้าขาดการใส่ใจกับการสุ่มตัวอย่าง

ข้อสรุปจากการทดสอบทางสถิติของงานวิจัยที่ต้องการอธิบายปรากฏการณ์ แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวแปรภายนอกที่สำคัญ  เป็นข้อสรุปที่ขาดความน่าเชื่อถือ  ลองคิดดูว่า  ถ้ามีผู้ทำวิจัยเชิงสัมพันธ์ที่ต้องการศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างการจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการเก็บข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง  และนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ  เพื่อเปรียบเทียบว่านักเรียนทั้งสองกลุ่มมีประสบการณ์เรียนรู้จากกระบวนการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษาแตกต่างกันหรือไม่ ถ้าพบว่านักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง  มีประสบการณ์การเรียนตามแนวปฏิรูปการศึกษาสูงกว่า  นักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ   ข้อสรุปนี้       นำไปสู่การอธิบายอะไร?  อธิบายว่า  ถ้าจะต้องการให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง  น่าจะจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูป  การวิจัยนี้ขาดความน่าเชื่อถือเพราะนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงอาจมี ความสามารถในการเรียน หรือ  ทัศนคติต่อการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษา ที่แตกต่างไปจากนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ แต่ผู้วิจัยไม่ควบคุม  และตัวแปรเหล่านี้เองที่อาจเป็นตัวแปรปนเปื้อนอยู่ในคำอธิบายผลจากการวิจัยครั้งนี้   ลองคิดดูซิว่ามีผลงานวิจัยจำนวนมากน้อยเท่าไรที่ทำการวิจัยแบบนี้ งานวิจัยในลักษณะดังกล่าวนี้มีข้อสรุปที่ขาดความน่าเชื่อถือ

ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงทดลองที่มีการสุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลอง  ร่วมกับการควบคุมตัวแปรภายนอกบางตัวที่มีผลต่อตัวแปรตาม  จะทำให้การอธิบายผลที่ได้จากการวิจัยมีความน่าเชื่อถือสูง  แต่มีงานวิจัยน้อยเรื่องที่สามารถทำการสุ่มเข้ากลุ่มได้อย่างแท้จริง เช่นงานวิจัยทางการศึกษาที่ต้องทำวิจัยกับนักเรียนทั้งห้อง  ดังนั้น ผลจากการวิจัยเชิงทดลองที่ไม่กล่าวถึงตัวแปรภายนอกที่ถูกควบคุมอาจขาดความน่าเชื่อถือ

ในการวิจัยเชิงทดลอง   กลุ่มควบคุม มิได้หมายถึง  กลุ่มที่ไม่ได้รับกิจกรรมที่กลุ่มทดลองได้รับเท่านั้น แต่หมายถึง กลุ่มที่ทำให้ผู้วิจัยประมาณค่าของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในกลุ่มทดลองได้อย่าง

ถูกต้องน่าเชื่อเมื่อได้ควบคุมปัจจัยภายนอกอื่นๆแล้ว

ข้อแนะนำสำหรับนักวิจัยเชิงปริมาณที่ต้องการข้อสรุปจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือคือ ขณะที่ออกแบบการวิจัยให้แบ่งตัวแปรออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) ตัวแปรอิสระหรือตัวแปรอธิบาย หมายถึงตัวแปรที่เราต้องการศึกษาว่าจะสามารถอธิบายตัวแปรตามได้หรือไม่ อย่างไร ตัวแปรอื่นจัดเป็นตัวแปรภายนอกทั้งหมด ซึ่งมี 3 ประเภทต่อไปนี้ 2)  ตัวแปรภายนอกที่ควบคุม หมายถึง ตัวแปรที่มีผลต่อตัวแปรตามที่ผู้วิจัยนำมาร่วมศึกษาด้วยในงานวิจัย หรือทำการควบคุมไว้โดยการเลือกให้คงที่ 3) ตัวแปรภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่อาจปะปนอยู่กับตัวแปรอิสระหรือตัวแปรอธิบายในข้อแรก และ 4) ตัวแปรภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ จัดให้เป็นตัวแปรความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม

ในการออกแบบการวิจัยเชิงทดลองและการวิจัยเชิงความสัมพันธ์ผู้วิจัยพยายามทำให้ ตัวแปรภายนอกทั้งหมดให้เป็นตัวแปรในกลุ่มที่ 2 หรือตัวแปรภายนอกที่ควบคุมให้ได้มากที่สุด การวิจัยเชิงทดลองมีเครื่องมือในการควบคุมตัวแปรที่ได้เปรียบการวิจัยเชิงความสัมพันธ์ นั่นคือการสุ่มเข้ากลุ่มที่จะทำให้ตัวแปรในกลุ่มที่ 3 เป็นตัวแปรในกลุ่มที่ 2 ทั้งหมด ดังนั้นในการวิจัยเชิงทดลองที่ดีจึงไม่น่าจะมีตัวแปรในกลุ่มที่ 3 แต่การวิจัยเชิงสัมพันธ์ทำได้ยากกว่า แต่อาจใช้เทคนิคของการจับคู่ หรือเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลเข้าช่วย  นักวิจัยที่มีความรับผิดชอบต้องไม่ปล่อยให้ตัวแปรภายนอกที่ไม่ได้ควบคุมเป็นอุปสรรคต่อความน่าเชื่อถือของงานวิจัยของคุณ

การปฏิบัติที่ผิดพลาดของนักวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบสมมติฐาน


การปฏิบัติที่ผิดพลาดของนักวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบสมมติฐาน

นับเป็นเวลาเกือบ 300 ปีที่ John Arbuthnot เริ่มต้นแนวทางการทดสอบสมมติฐานศูนย์ เพื่อเป็นเครื่องมือของนักวิทยาศาสตร์และต่อมานักสถิติได้แก่  Sir Ronald Fisher และ Egon  Pearson  นำวิธีการนี้มาใช้ในหลากหลายวงการทั้งในด้านการวิจัยทางการเกษตร และสาขาการวิจัยอื่น ๆ

ในขณะที่มีการใช้วิธีการนี้เพิ่มขึ้น  ก็มีข้อผิดพลาดของวิธีการนี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นด้วย  ลองมาดูกันซิว่าข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง  ข้อแรกคือ  การตีความว่า ผลของการวิจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิตินั้นแปลว่า ผลของการวิจัยนั้นมีนัยสำคัญทางวิทยาศาสตร์ด้วย  ซึ่งจริงแล้วไม่ใช่  เช่น  ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่กลุ่มทดลองใช้วิธีการลดความเครียดโดยยาจริง  และกลุ่มควบคุมใช้ยาเทียม  ผลการวิจัยพบว่ายาจริงทำให้คนไข้ลดความเครียดได้แตกต่างจากยาเทียมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่ายาดังกล่าว เป็นผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ  ต้องมีการทดลองซ้ำในอีกหลาย ๆ สถานการณ์เพื่อให้สามารถยืนยันผลการวิจัยนี้

ข้อสองของความผิดพลาดในการใช้การทดสอบสมมติฐานศูนย์ คือ  การตีความว่า ผลการทดสอบที่ไม่สามารถปฏิเสธสมมุติฐาน  แสดงว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มหรือไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร  ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเรายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่ามีความแตกต่างเกิดขึ้นหรือไม่  ตอนนี้อย่าเพิ่งงง!!  ลองมาดูที่มาของการทดสอบสมมติฐานศูนย์กันก่อนดีกว่า

Sir Fisher  เข้าใจดีว่า วิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่อง องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มักเริ่มจากการทดลองเล็ก ๆ เพื่อการค้นพบปรากฏการณ์ที่มีประโยชน์  งานวิจัยขนาดเล็กนี้ผลของการวิจัยอาจยังมีข้อสงสัยเล็กน้อย ๆเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผลวิจัย และต้องมีการทำวิจัยต่อไปอีกเพื่อขจัดข้อสงสัยเหล่านี้ โดยการออกแบบการวิจัยที่ดีขึ้น  นอกจากนี้เขาเชื่อว่าการค้นพบที่ผิดพลาดมีผลเสียน้อยกว่า การไม่สามารถค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้นสำหรับเขาแล้วการทดสอบสมมติฐานศูนย์ โดยเลือกระดับนัยสำคัญที่ .05  เป็นการเลือกเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติการวิจัยที่เป็นชุดการวิจัยที่ทำให้ประเด็นวิจัยเดียวกันอย่างต่อเนื่อง  ผลสรุปจากงานวิจัยของเขามีอยู่ 3 แบบเท่านั้น คือ  1) เมื่อ p มีค่าเล็ก น้อยกว่า .05  จะสรุปว่า ผลของทรีทเมนต์มีอย่างชัดเจน  2) เมื่อความน่าจะเป็นมีค่ามากกว่า .05  จะสรุปว่า ถ้าผลของทรีทเมนต์มีจริง  แต่เราอาจไม่พบเพราะงานวิจัยมีขนาดเล็ก และ 3) เมื่อความน่าจะเป็นอยู่ใกล้เคียง เช่นอาจเป็น .055  เขาจะอภิปรายว่าควรจะออกแบบการวิจัยครั้งใหม่อย่างไร  ให้มีผลชัดเจนยิ่งขึ้น

จะเห็นว่าการใช้การทดสอบสมมติฐานศูนย์ในปัจจุบัน แตกต่างจากการใช้เมื่อสมัยดั้งเดิม เช่น  เมื่อเราอ่านงานวิจัย  เราจะพบผลการวิจัยว่า พฤติกรรมวินัยของนักเรียนกลุ่มที่ได้รับทรีทเมนต์ สูงกว่าของกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  แสดงว่าทรีทเม้นต์มีผลต่อการสร้างวินัยของนักเรียน  หรือ พฤติกรรมทางการบริโภคด้วยปัญญาของนักเรียนกลุ่มที่ได้รับทรีทเม้นต์  ไม่แตกต่างจากกลุ่มทดลองที่ระดับ .05  แสดงว่าทรีทเมนต์ไม่มีผลต่อการสร้างพฤติกรรมการบริโภคด้วยปัญญาในกลุ่มนักเรียน  เป็นการสรุปผลการวิจัยใน 2 รูปแบบเท่านั้น  นักวินัยสมัยใหม่จึงมีข้อผิดพลาดที่ว่า  เขาสรุปผลงานวิจัยและตีความแบบหลวม ๆ คือ  ตีความว่าไม่มีผลของทรีทเม้นต์ เมื่อ p > .05  โดยไม่มีข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงการวิจัยให้ดีขึ้น และไม่ทำการวิจัยซ้ำเมื่อ P < .05  เพื่อให้รู้อย่างชัดเจนว่าทิศทางและขนาดของผลที่เกิดจากทรีทเม้นต์เป็นเช่นไร

ในปัจจุบันนักวิจัยต้องปรับเปลี่ยนการปฏิบัติเกี่ยวกับการทดสอบนัยสำคัญของสมมติฐานศูนย์  โดยก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ ระดับนัยสำคัญ และขนาดอิทธิพล  ประเด็นแรกเรื่องระดับนัยสำคัญ  นักวิจัยรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องจำกัดการรายงานผลการวิจัยอยู่ที่ระดับ .05  .01  หรือ .001  แต่ควรรายงานผลการวิจัยตามระดับนัยสำคัญที่แท้จริง ซึ่งคำนวณมาจากข้อมูล เช่น  “P = .06”  และให้ผู้อ่านประเมินเองว่ามีนัยสำคัญอย่างไร  ระดับนัยสำคัญจะบอกให้ทราบว่าทิศทางของผลอยู่ในทิศทางใด และถ้านักวิจัยต้องการจะตีความระดับนัยสำคัญแบบ 2 ขั้ว ผลนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือ ผลนี้เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุบังเอิญ  ผู้วิจัยต้องกำหนดระดับนัยสำคัญไว้ก่อน  และมีคำอธิบายประกอบการกำหนดระดับนัยสำคัญ ซึ่งไม่ควรจะคงที่เสมอไป  และควรจะปรับเปลี่ยนไป  ขึ้นอยู่กับสภาวะของการทำวิจัยครั้งนั้น ๆ เช่น ถ้านักวิจัยต้องการวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบต่อเนื่องเป็นชุดของงานวิจัย อาจเริ่มต้นที่ระดับนัยสำคัญที่ .05  แต่ถ้านักวิจัยทำวิจัยในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมที่รุนแรง อาจตั้งระดับนัยสำคัญที่ .01

คำแนะนำสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ คือ  การรายงานผลการทดสอบนัยสำคัญของสมมติฐานศูนย์ เมื่อ P มีค่าน้อยกว่า .05 ควรสรุปว่า ทิศทางของความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยปรากฏชัดเจน คือ  ค่าเฉลี่ยของกลุ่มทดลองสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มควบคุม หรือเมื่อ P มีค่ามากกว่า .05  ควรสรุปว่า ความแตกต่างระหว่างกลุ่มยังไม่สามารถระบุได้ หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสองยังไม่สามารถระบุได้  ต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ อาจจะสามารถสรุปได้

ประเด็นที่สองคือ  ขนาดอิทธิพลที่บ่งบอกว่า ตัวแปรต้นนั้นมีผลมากหรือน้อยต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวแปรตาม  ในขณะที่การทดสอบนัยสำคัญของสมมติฐานศูนย์บ่งบอกทิศทางของผลที่เกิดขึ้น  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผลของการวิจัยต้องระบุทั้งขนาดอิทธิพล และระดับนัยสำคัญพร้อม ๆ กัน  นักวิจัยควรหลีกเลี่ยงการตีความขนาดอิทธิพลโดยใช้คำบรรยายว่า มีขนาด เล็ก ปานกลาง หรือใหญ่  โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น  ประเภทของการวิจัย  ตัวแปรต้นและตัวแปรตามคืออะไร  การตีความในลักษณะนี้ควรทำโดยนักวิจัยที่มีความคุ้นเคยและเชี่ยวชาญในประเด็นวินัยนั้นเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว การทดสอบสมมติฐานศูนย์ เกิดขึ้นและถูกใช้ในงานวิจัยมาเกือบ 300 ปี  และเราพบว่าความผิดพลาดของวิธีการนี้เกิดจากผู้ใช้และผู้ตีความงานวิจัย ที่ขาดความรู้เกี่ยวกับที่มาของวิธีการ และเจตนาของผู้เริ่มต้นประยุกต์ใช้ในการวิจัย  วิธีการนี้ยังคงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  เพราะจะบอกทิศทางของผลที่เกิดขึ้น  และเมื่อใช้ร่วมกับขนาดอิทธิพลจะให้ความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับขนาดอิทธิพลที่พบ แต่ไม่ค่อยมีประโยชน์นักถ้างานวิจัยมีขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่เพราะจะพบผลที่มีนัยสำคัญบ่อยเกินไป  การทดสอบนัยสำคัญของสมมติฐานศูนย์มีประโยชน์สูงสุด เพื่อใช้กับชุดของการวิจัยที่ที่ต่อเนื่องกันทั้งในแบบที่เป็นการทำซ้ำ และการทำซ้ำโดยขยายขอบเขตของงานวิจัย

กว่าจะเป็นปัยหาการวิจัย


ก่อนจะเป็นปัญหาการวิจัย

นักวิจัยรุ่นเยาว์หรือนักศึกษาระดับบัณทิตศึกษาที่เริ่มทำวิจัย จะมีคำถามเสมอว่า ดิฉัน/ผมจะทำวิจัยเรื่องอะไรดีบ้างก็บอกอย่างเบื่อหน่ายว่า กำลังมองหาหัวข้ออยู่ โดยที่ความจริงแล้วสิ่งที่กำลังพูดอยู่นี้ น่าจะหมายถึงการหาปัญหาการวิจัยที่ดีนั่นเอง

ปัญหาการวิจัยที่ดีนั้น อาจเริ่มต้นจาก การมีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วค่อยๆ พัฒนาไปเป็นปัญหาการวิจัยที่ชัดเจน เช่น ความสนใจของเราอาจเกี่ยวกับเรื่อง ผู้บริหารกับผลประโยชน์ขัดแย้ง วัยรุ่นกับพฤติกรรมทางเพศ  นักข่าวกับจรรยาบรรณในวิชาชีพ เหล่านี้มิใช่ปัญหาการวิจัยที่ดี แต่เป็นแค่ประเด็นความสนใจกว้างๆ

ปัญหาการวิจัยที่ดีควรมีลักษณะลึก  ริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อการสร้างความรู้เชิงวิชาการและการแก้ปัญหาสำคัญ การเขียนปัญหาการวิจัยอาจเขียนในรูป ประโยคคำถามหรือเขียนในรูปของจุดประสงค์ก็ได้  นักวิจัยรุ่นเยาว์มักเลือกปัญหาการวิจัยเร็วเกินไป  ก่อนจะทำการศึกษาอย่างลึกซึ้ง หรือมองไม่เห็นว่ามีปัญหาการวิจัยหลังจากอ่านผลการวิจัยต่างๆแล้วเพราะเข้าใจว่ามีคนอื่นทำวิจัยไปหมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่เลยเพราะความสนใจของนักวิจัย สร้างเป็นปัญหาการวิจัยได้เสมอเมื่อมีการขัดเกลาที่เหมาะสม  การทำวิจัยที่ดีเริ่มจากการเลือกปํญหาการวิจัยที่ดี  ซึ่งทำได้ยากหน่อยสำหรับนักวิจัยรุ่นเยาว์  มีคำกล่าวหาหรือคำวิจารณ์ของอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับปัญหาการวิจัยคือ มันกว้างไป มันไม่น่าสนใจ มันยังไม่มีอะไรใหม่ และนักวิจัยรุ่นเยาว์ก็ไม่รู้ว่าจะไปปรับปรุงอย่างไร

ลักษณะของปัญหาการวิจัยที่กว้างเกินไปเป็นลักษณะที่ปรับปรุงได้ง่ายกว่าจุดบกพร่องอื่น เช่นเดิมนักวิจัยอาจมีปัญหาการวิจัยว่า การฝึกอบรมมีประสิทธิผลหรือไม่  ผลการปฏิบัติงานวัดอย่างไร อะไรทำให้องค์กรมีประสิทธิผล วัยรุ่นรู้เท่าทันสื่อหรือไม่ ปัญหาการวิจัยเหล่านี้จะชัดเจนขึ้น โดยการระบุตัวแปรที่เฉพาะเจาะจง เช่นการใช้เทคนิคแม่แบบเพื่อพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำมีผลอย่างไร  แรงจูงใจในการปฏิบัติงานของพนักงานและภาวะผู้นำของหัวหน้ามีผลต่อประสิทธิผลขององค์กรอย่างไร  วัยรุ่นที่มีโครงสร้างของครอบครัวแตกต่างกับจะมีการรู้เท่าทันสื่อต่างกันอย่างไร

แล้วจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ปัญหาการวิจัยสร้างสรรค์ สำคัญ และมีผลกระทบ เราทำได้โดยอาศัยความรู้ และทักษะต่อไปนี้ 1)  ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆของการทำงานวิจัยได้แก่ การออกแบบการวิจัย  การรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล  2) ทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ และ  3)  ทักษะการสังเคราะห์งานวิจัย การอ่านอย่างมีวิจารณญาณทำโดย เลือกงานวิจัยในเรื่องที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับคำถามการวิจัย อ่านและทำความเข้าใจว่างานเรื่องนั้นทำงานวิจัยในรูปแบบใด กับใคร ตัวแปรวัดอย่างไร ผลเป็นอย่างไรก็ต้องวิเคราะห์ วิจารณ์ข้อดี ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อน่าสงสัยเกี่ยวกับทฤษฎี การวัด การวิเคราะห์ และผลการวิจัย ในขณะที่อ่านงานวิจัยแต่ละเรื่อง จากนั้นนำงานวิจัยหลายๆเรื่องมาสังเคราะห์เพื่อหาว่าอะไรที่ยังเป็นคำถามอีกบ้าง

ปัญหาการวิจัยที่สร้างสรรค์นั้นยากหน่อย เพราะความสร้างสรรค์เป็นจินตนาการบวกกับทักษะความชำนาญในสาขา ปัญหาการวิจัยของนักวิจัยรุ่นเยาว์มักขาดความสร้างสรรค์หรือแม้แต่ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งในประเทศและต่างประเทศบางเรื่องก็ไม่สร้างสรรค์ และเพราะความสร้างสรรค์ไม่มีขอบเขต ดังนั้นปัญหาการวิจัยที่เราคิดว่าสร้างสรรค์อาจไม่สร้างสรรค์สำหรับอีกคนก็เป็นไปได้

ปัญหาการวิจัยจะต้องมีความใหม่ หมายความว่าเป็นปัญหาที่ยังไม่มีใครตอบ หรือเป็นปัญหาที่ต้องการคำตอบแนวใหม่ ดังนั้นถ้าเราทราบว่า มีผู้ทำวิจัยเสร็จและพบว่าการใช้เทคนิคแม่แบบพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำของนักเรียนระดับประถมศึกษาแต่มีขนาดอิทธิพลน้อย และเรามีข้อสันนิฐานว่าการพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำที่เกิดขึ้นจะไม่ยั่งยืนถ้ามิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักเรียน  เราอาจปรับปัญหาการวิจัยเป็น การใช้เทคนิคแม่แบบและกระบวนการกระจ่างค่านิยมร่วมกันจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำได้หรือไม่

นอกจากนี้ปัญหาการวิจัยต้องมีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อวิชาการ นักวิจัยรุ่นเยาว์อาจสร้างปัญหาการวิจัยจากการร่วมงานวิจัยกับนักวิจัยที่มีประสบการณ์ เพราะจะได้เรียนรู้งานวิจัยที่มีความซับซ้อน  หรือจากการอ่านหนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งที่จะทำให้ปัญหาการวิจัยชัดเจนขึ้น  เช่น นักวิจัยที่สนใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคมของนักเรียนประถมศึกษาที่มีความสามารถพิเศษ หลังจากได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ ลักษณะเฉพาะของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ  พัฒนาการทางสังคม อาจมีปัญหาการวิจัยที่ชัดเจนขึ้น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสติปัญญาและการเลือกสังคมมิติระหว่างเด็กนักเรียนประถมปีที่ห้าเป็นอย่างไร หรือ  ปัญหาการปรับตัวทางสังคมของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเป็นอย่างไร

ปัญหาการวิจัยที่ดีอาจเป็นการทดสอบทฤษฎีที่เกี่ยวของกับประเด็นที่นักวิจัยสนใจ ทฤษฎีที่ดีต้องสามารถใช้เพื่อการอธิบายปรากฏการณ์ได้หลากหลาย  ทฤษฎีมักประกอบด้วยการระบุความเกี่ยวข้องระหว่างเหตุการณ์  และตัวแปรที่ใช้เพื่อบอกเกี่ยวกับเหตุการณ์ เช่นทฤษฎีเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวลกับการเรียนรู้  กล่าวว่า  นักเรียนที่มีความวิตกกังวลต่ำจะทำงานได้ดีกว่านักเรียนที่มีความวิตกกังวลสูงในงานที่มีความยาก นักวิจัยอาจทดสอบทฤษฎีในการเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 4 ในวิชาการสอนวิทยาศาสตร์ โดยมีงานที่มีความง่ายและยากในระดับต่าง ๆ โดยใช้นักศึกษาที่มีความกังวลหลายระดับ แล้วทำการสังเกตการสอนของนักศึกษา ปัญหาการวิจัยที่ทดสอบทฤษฎีมีข้อดีหลายประการคือ ทฤษฎีจะเป็นเหตุผลในการอธิบายผลการวิจัย ทฤษฏีให้กรอบการวิจัยเกี่ยวกับตัวแปรและความเกี่ยวข้องระหว่างตัวแปร

ผลงานวิจัยที่มีความสำคัญต้องมาจาก ปัญหาการวิจัยที่ดี และปัญหาการวิจัยที่ดีต้องมีผลกระทบต่อวิชาการหรือการแก้ปัญหาที่สำคัญของสังคม ถ้าการทำวิจัยนั้นไม่เพิ่มพูนความรู้ หรือไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา ก็ไม่คุ้มค่าที่จะทำวิจัย
การวิจัยปฏิบัติการ AR : ความเป็นมา ใครตอใครมักกลาว ถึง Kurt Lewin ในฐานะผูคิดคนและใหความ หมายของคําวา action research “a process whereby one could construct a social experiment” ตัวอยางของงานวิจัยใน ยุคแรกๆ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ เลวิน ทําไดแก “การใหชาว อเมริกันใชเครื่องในวัวหรือผาขี้ริ้ววัว(tripe)ในการปรุงอาหารประจํา วัน” โดยมีคําถามวิจัยวา แมบานชาวอเมริกันจะไดรับการจูงใจใหใช เครื่องในวัวในการปรุงอาหารไดหรือไม เพียงใด ? ขั้นตอนในการวิจัย ประกอบดวย 1) การฝึกใหแมบานจํานวนหนึ่งปรุงอาหารโดยใช เครื่องในวัว และ 2) สํารวจวาการฝึกมีผลตอการทําอาหารในครัวเรือน ของแมบานแตละคนอยางไร จะเห็นวาการวิจัยของ เลวิน คลายกับการวิจัยเชิงทดลองใน สถานการณที่เป็นธรรมชาติ(social experiment) แตมีรูปแบบมี ผลลัพธที่เฉพาะเจาะจงและมีประโยชนในเชิงปฏิบัติ แตยังมีระดับ ของการควบคุมกิจกรรมที่ผูวิจัยเป็นผูจัดการ หรือวางแผนเกือบ ทั้งหมด เลวิน ยังเป็นบุคคลที่กลาวคําพูด “Nothing is as Practical as a good theory” และ “The best way to understand something to try to change it” นอกจากนี้แนวความคิดของ เลวิน ที่ยังคงมีผลกระทบตอการวิจัย ปฏิบัติการในยุคปัจจุบัน ประกอบดวย กระบวนการเปลี่ยนแปลงทาง สังคม มีขั้นตอน 3 ขั้น ขั้นแรก คือ รื้อโครงสรางเดิม (unfreezing) เปลี่ยนโครงสราง และประกอบกลับเป็นโครงสราง

การระบุปัญหาการวิจัย

การระบุปัญหาการวิจัย อันดับแรกต้อง แยกระหว่าง ปัญหา และ ปัญหาการวิจัย ปัญหา แปลว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรค ความยากลำบาก สิ่งที่ไม่เป็นดังคาดหวัง ทำให้ต้องมีการเข้าไปแก้ปัญหา ปัญหาบางอย่างก็แก้ได้จากการวิจัย แต่ปัญหาบางอย่างก็ไม่เหมาะแก่การวิจัย(ใช่คำว่าไม่เหมาะเพราะทางพุทธศาสนามี อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งน่าจะทำให้เชื่อได้ว่า กระบวนการนี้ใช้แก้ปัญหาของคนได้ ) กลับมาทีปัญหาการวิจัย จึงหมายถึงปัญหาใดๆที่ เราสามารถ ทำความเข้าใจ และแก้ไขได้ในที่สุด ผ่านการวิจัย สิ่งที่ต้องมองให้ทะลุอีกอย่างหนึงคือ ปัญหาการวิจัย อาจเป็นปัญหาจากการปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติคิดว่าต้องทำให้ได้ตามคาด หรืออาจเป็นปัญหาเชิงวิชาการ ที่นักวิชาการคิดว่ายังเข้าใจได้ไม่ชัดเจน ดังนั้นผู้วิจัย ต้องทำความเข้าใจกับปัญหาการวิจัยของตนเอง และเขียนให้สอดคล้องกัน อันดับที่สอง ต้องเข้าใจ ส่วนประกอบของการระบุปัญหาการวิจัย การระบุปัญหาการวิจัย หมายถึง กระบวนการที่นักวิจัยทำให้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่างานวิจัยที่ทำ ตอบคำถามใด กับกลุ่มเป้าหมายใด บนพื้นฐานความรู้ใดหรือข้อตกลงเบื้องต้นว่าอย่างไร ดังนั้น นักวิจัยต้องอธิบายโดยการเขียนในหัวข้อต่อไปนี้ให้ชัดเจนคือ ที่มาและควาทสำคัญของการวิจัย คำถามการวิจัย จุดมุ่งหมายการวิจัย ขอบเขตการวิจัย และ ข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย โดยในแต่ละหัวข้อมีรายละเอียดที่สำคัญคือ ที่มาหรือภูมิหลังของประเด็นปัญหา ให้เขียนเกี่ยวกับ สถานภาพของปรากฏการณ์ ว่ามีปัญหาอย่างไร เช่นถ้าตัวแปรตามเป็นความพึงพอใจต่อการบริการ ก็ต้องแสดงสถิติของ ความพึงพอใจที่มีตำ่กว่าเป้า หรือมีการบ่นว่าของผู้รับบริการ และถ้าปัญหานั้นเป็นปัญหาทางวิชาการก็ต้องแสดงให้เห็นว่า การวิจัยในอดีตอธิบายในเรื่องเหล่านั้นแล้วยังมีปัญหาของความรู้ความเข้าใจ ความคลาดเคลื่อนของการอธิบายตรงจุดไหน โดยอาจวิเคราะห์ให้เห็นว่าข้อสรุปของงานวิจัยที่ผ่านมา ยังอธิบายได้น้อย ความสำคัญของการวิจัย ต้องเขียนให้สอดคล้องว่า เมื่ิอทำวิจัยแล้วจะเกิดประโยชน์เชิงมูลค่า หรือคุณค่าเพิ่มอย่างไร และในเชิงวิชาการจะทำให้สร้างความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ มีดีกว่าเดิมอย่างไร คำถามการวิจัยและจุดมุ่งหมายก็อาจเลือกเขียนอันหนึ่งก็ได้ จุดอ่อนของการเขียนมักพบว่า แยกจุดประสงค์หลักและรองไม่ชัดเจน เขียนจุดมุ่งหมายค์มากข้อเกินไป เขียนจุดมุ่งหมายหลักไม่เป็นภาพต่อของจุดมุ่งหมายรอง ใช้คำที่เน้นกระบานกรวิจัยมากกว่าเป้าหมายของการวิจัย เขียนไม่สะท้อนวิธีวิทยาของการวิจัยในจุดประสงค์ เอาผลหรือประโยชน์ จากการวิจัยมาเขียนเป็นจุดมุ่งหมาย เขียนหลายข้อที่ซ้อนกันเอง ใช้คำที่ไม่สะท้อนตัวแปร หรือเป้าหมายของความรู้ที่ชัดเจน ขอบเขตของการวิจัย เขียนให้ครอบคลุม ว่างานนี้มีขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย ขอบเขตด้านวิธีวิจัย และขอบเขตด้านทบ. ใด นอกจากนี้นักวิจัยที่ดีความเข้าใจและเขียนแสดงจุดยืนข้อตกลงเบื้องต้ยของการวิจัยโดย กล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับ ontology หรือ epistemology ของตนด้วย

วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความคลาดเคลื่อนในการวัด รู้ได้อย่างไร แก้อย่างไร หลอกกันอย่างไร

ความคลาดเคลื่อนในการวัด รู้ได้อย่างไร แก้อย่างไร หลอกกันอย่างไร การเขียนนี้เนื่องมาจากการสนทนา เกี่ยวกับการที่ค่า reliability สปส.อัลฟ่า ของตัวแปรหนึ่งมีค่าต่ำกว่าระดับที่ยอมรับได้(.70) แล้วเมื่อนำตัวแปรนี้มาใช้ในการวิเคราะห์โมเดลเชิงโครงสร้าง ความหมายของการใช้ได้หรือใช้ไม่ได้นี้เปลี่ยนไป หรือไม่ โดยที่บางคนเชื่อว่า “เปลี่ยนไป ในทางที่น่าจะดีขึ้น”

การกล่าวเช่นนี้ถูกต้อง หรือ ไม่ถูกต้อง ต้องมีคำอธิบาย ที่ชัดเจน อะไรคือ ความคลาดเคลื่อนในการวัด ตรงไปตรงมาที่สุด คือ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือที่เราวัด ตัวแปรที่เราสนใจนั้นวัดได้ไม่สมบูรณ์เต็มร้อย มีหลายเห ตุผลของการเกิดความคลาดเคลื่อน แต่เหตุผลหลัก คือ ความคลาดเคลื่อนจากเครื่องมือวัด(บทความนี้จะกล่าวเน้นในประเด็นนี้) และความคลาดเคลื่อนจากการสุ่ม

 เราจะรู้ได้อย่างไร ว่ามีความคลาดเคลื่อนจากเครื่องมือวัดเกิดขึ้น ต้องดูจาก ค่า reliability ที่ต่อไปนี้จะเรียกว่า ความเชื่อมั่น หรือ เป็นค่าที่แสดงว่า คะแนนของคนคนหนึ่งมีความสอดคล้องกันหรือไม่ เมื่อ ใช้เครื่องมือนั้นวัดหลายครั้ง ทั้งนี้มีหลายวิธีการ ที่จะแสดงถึงความเชื่อมั่น ได้แก่ การใช้การทดสอบซ้ำ การใช้การทดสอบที่คู่ขนาน การแบ่งครึ่งข้อสอบ และการตรวจสอบความสอดคล้องภายใน ตัวหลังสุดนี้ที่เรารู้จักกันว่า สปส.อัลฟ่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจ สปส. อัลฟ่า ว่าเป็นดัชนีที่มีข้อตกลงเบื้องต้น ว่าตัวแปรที่มีมิติเดี่ยว(single factor trait) ข้อคำถามแต่ละข้อมีความแปรปรวนใกล้เคียงกัน และ ข้อคำถามแต่ละข้อมีความสัมพันธ์กันในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน และ ดังนั้นการที่ค่าอัลฟ่าต่ำหรือสูง ก่อนการตีความ ก็ต้องดูว่าลักษณะของข้อคำถามที่เราสร้าง มีลักษณะตรงกับข้อตกลงเบื้องตันหรือไม่ เช่นถ้าเราพบค่าอัลฟ่า มีค่า .90 แต่ข้อคำถามไม่เป็นไปตามข้อตกลงเบื้องต้น การแปลความอัลฟา ก็มีปัญหาในการแปลความ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อพบค่าอัลฟ่าต่ำก็ต้องดูข้อตกลงเบื้องต้น ว่าเป็นตามนั้นไหมถ้าเป็นไปตามนั้นแล้ว การปรับให้อัลฟ่าสูงขึ้นจึงมาเพิ่มจำนวนข้อ ไม่ใช่ว่าอะไร อะไร ก็เพิ่มข้อคำถามไปซะทุกครั้ง ทำแบบนั้นเรียนว่าการล่วงละเมิดทางสถิติ หรือ การใช้สถิติแบบผิดๆ 

ที่นี้ถ้าเรามีตัวแปรที่มีค่าอัลฟ่าต่ำ แล้วนำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร อันได้แก่การวิเคราะห์ถดถอย ถ้าตัวแปรดังกล่างเป็นตัวแปรต้นจะมีปัญหาต่อการประมาณค่า สปส. ถดถอย แต่ถ้าตัวแปรดังกล่าวเป็นตัวแปรตาม จะมีปัญหาต่อการทดสอบนัยสำคัญของ R เป็นต้น ที่นี้ถ้าเรานำตัวแปรมาใช้ที่มีค่าอัลฟ่าต่ำมาใช้ในการวิเคราะห์โมเดลเชิงโครงสร้างแบบใช้เป็นตัวแปรบ่งชี้ ของตัวแปรแฝงตัว จะทำให้อธิบายอัลฟ่าที่ต่ำนี้ ได้ดีขึ้นหรือไม่ 

ก่อนอื่นเราต้อง วิเคราะห์ก่อนว่า อัฟฟ่า เกี่ยวข้องกับ ความคลาดเคลื่อนจากการวัดอย่างไร ก็ต้องมีค่าสถิติเพื่ออีกหนึ่งตัวที่เรียกว่า standard error of measurement ต่อไปนี้จะเรียกย่อๆว่า SEM คำนวณจาก standard deviation(SD) คือ SEM=SD*(1-reliability) ซึ่งถ้าในการวิเคราะห์โมเดล เราปล่อยให้ ความคลาดเคลื่อนของตัวบ่งชี้ เป็นอิสระ(free) และปล่อยให้เกิดความสัมพันธ์กับ ความคลาดเคลื่อนของตัวแปรอื่นๆ เมื่อโมเดลกลมกลืนแล้ว พบว่าค่าความคลาดเคลื่อนของการวัดที่ประมาณค่าได้จากโมเดลเชิงสาเหตุมีค่าต่ำลง เราจะกล่าวได้ว่า เราอธิบายที่มาของความคลาดเคลื่อนที่คำนวณจากอัลฟ่า(SEM)ได้ดีขึ้น หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเป็นคนละประเด็นกัน

 คือ ตอนที่คำนวณ SEM จาก ค่า reliability ค่าที่ได้แสดงความคลาดเคลื่อนแบบใด ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบเป็นระบบ และ แบบสุ่ม ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักๆ คือ 1) ความคลาดเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้สอบ เช่น ความกังวล แรงจูงใจ ในระหว่างทีทำสอบ 2) ความคลาดเคลื่อนที่มาจากตัวเครื่องมือวัด เช่น ความครอบคลุมของเนื้อหา ความกำกวมของข้อคำถาม 3) ความคลาดเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับการจัดสอบ ได้แก่ การขัดจังหวะระหว่างการสอบ การให้คะแนน 4) ความคลาดเคลื่อนที่เกี่ยวข้อง สิ่งแวดล้อม เช่นอุณหภูมิห้อง แสงไฟ

 แต่ ความคลาดเคลื่อนของตัวบ่งชี้ ที่ประมาณค่าได้จากการวิเคราะห์โมเดล แสดงอะไร คำตอบคือ แสดงว่ามีตัวแปรอื่นที่นอกเหนือจากตัวแปรแฝงที่มาอธิบายตัวบ่งชี้ ซึ่งอาจเป็น ตัวแปรอื่นในโมเดล หรือ นอกโมเดล หรือ ความคลาดเคลื่อน 1 ใน 4 ข้อที่กล่าวถึงข้างต้น แต่มิอาจบอกได้ว่า เป็นประเด็นเดี่ยวกันเพราะถ้า ตอนที่เราคำนวณค่า reliability แล้วมีค่าต่ำ อันเนื่องมาจากเหตุผลข้อ ใดก็ตามใน 4 ข้อที่กล่าวถึง การทำการวิเคราะห์โมเดลไม่สามารถใช้ในการเบี่ยงเบนประเด็นได้ นอกเสียจากว่า ผู้วิจัยจะวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะอธิบายความคลาดเคลื่อน แต่ละตัวนั้นอย่างไร