วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Philosophical essay


ในการเรียนวิชาปรัชญาทางพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัญทิต นักศึกษาต้องฝึกฝนการเขียนในหลายๆรูปแบบ ที่ทำกันอยู่แล้วคือการเขียนสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฟัง การคิด และการค้นคว้าเพิ่มเติม โดยการเขียนนี้เป็นการแสดงความสามารถในการสรุป และฝึกสะท้อนความคิดในเชิงเห็นประโยชน์  และเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมของแต่ละคน แต่ยังมิใช่การเขียนเชิงปรัชญา แล้วการเขียนเชิงปรัชญา เป็นอย่างไร
ลักษณะที่ไม่ใช่ความเรียงเชิงปรัชญา( philosophical essay) คือ ไม่ใช่รายงานการวิจัย ไม่ใช่การเขียนเพื่อแสดงความเห็นของผู้เขียน ไม่ใช่รายงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการเขียนเกี่ยวกับข้อค้นพบหรือการทบทวนวรรณกรรมจากที่เก่าหรือใหม่สุด แต่เป็นการเขียนความเรียงเพื่อการให้เหตุผลป้องกัน หรือปกป้อง “thesis” ของผู้เขียน  ผู้เขียนต้องการชักชวนด้วยเหตุผลที่ทำให้ผู้อ่านให้ยอมรับ “thesis”  ของผู้เขียน
 ดังนั้นก่อนอื่นผู้เขียนคงต้องตั้ง “ thesis” ของตนก่อน  แล้ว thesis มาจากไหน  ก็อาจมาจากความคิดของนักปรัชญาบางคนที่ผู้เขียนหยิบยกมาเพื่อจะเขียนสนับสนุน หรือเพื่อโต้แย้ง เช่น  ผู้เขียนอาจหยิบความคิดของ  Adam Smith, Karl Marx,   Aristotle หรือนักปรัชญาอื่นๆ ก็ได้  หรือ thesis อาจเป็นความคิดของผู้เขียนในประเด็นใดประเด็นหนึ่งก็ได้  Thesis เป็นข้อสรุปที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านยอมรับ
ประเภทของความเรียงเชิงปรัชญา อาจแบ่งเป็น 2 อย่างคือ ประเภทแรก เป็นการให้นำเสนอ บรรยาย และอธิบาย arguments โดยละเว้นการวิพากษ์ ผู้เขียนพยายามที่จะแสดง argument ที่ครอบคลุมมาชักจูงให้เห็นชอบกับ thesisที่ตั้งไว้นั้น เรียกว่า การเขียน แบบ expository  ประเภทที่สอง เป็น การเขียนที่ผู้เขียนต้องนำเสนอ บรรยายและ อธิบาย arguments อย่างละเอียดเหมือนการเขียนประเภทแรกแล้วจึงเริ่มวิพากษ์ หรือ ประเมิน  argument นั้นทุกอัน  เรียกว่า การเขียนแบบ argumentative นักศึกษาระดับปริญญาเอกควรได้ฝึกการเขียนในประเภทที่สองให้มาก
การเขียน thesis สำหรับ ประเภทของความเรียง จะแตกต่างกัน เช่น “  Aristotle  endorses a virtue theory of morality “ เป็น thesis ของการเขียนแบบ expository แต่ “ I will argue that Aristotle’s moral theory fails because it does not provide adequate account of specific moral actions” เป็น thesis ของการเขียนในแบบ argumentative จะเห็นว่า ใน thesis หลังมีการแสดงจุดยืนของผู้เขียนในการวิพากษ์ความคิดของอริสโตเตล และแสดงจุดยืนนั้นออกมาชัดเจน
โครงสร้างของการเขียนอาจมีลักษณะดังนี้ 1) ส่วนนำ เป็นการกล่าว ประเด็นที่กำลังจะเขียน  และกล่าวถึง thesis ของผู้เขียน และกล่าวโดยย่อว่าจะมีการนำเสนอในลักษณะอย่างไร 2) การเขียนแบบ expository 3) การเขียนวิพากษ์ 4 ) การสรุป เป็นการให้ภาพย่อ อีกครั้งหนึ่งของทั้งสามหัวข้อข้างต้น ไม่ควรเปิดประเด็นอื่น ตรงนี้เคยเห็นมานับครั้งไม่ถ้วนที่การสรุปไม่เกี่ยวข้องกับการเขียนในส่วนต้นๆเลย
แค่นี้ก่อนนะ เอาไว้เขียนตอนสอง